วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สอบเข้าโรงเรียนสาธิต ด้วยความสามารถพิเศษด้านดนตรี ต้องเจออะไรบ้าง???



          ผมหายไปจาการเขียนบล็อกเรื่องดนตรีเกือบปีครับ สาเหตุหลักก็คือ น้องเพลินลูกสาวของผมก้าวเข้าสู่ป.6 จำเป็นต้องหาโรงเรียนสอบเข้าใหม่ งานวิชาการเลยต้องมา งานดนตรีเลยต้องพับไปก่อน อารมณ์อินเขียนดนตรีของผมเลยหายไป ถ้าเขียนเรื่องพาลูกไปติววิชาการคงจะไม่ใช่แนว
          ช่วงปีครึ่งของการเน้นวิชาการ การเรียนดนตรีของน้องเพลินต้องเรียกว่า Maintain หรือแค่ประคอง เพราะโจทย์ทางด้านวิชาการมันยากเหลือเกิน ข้อสอบและคู่แข่งมันกินแรงเด็กป.6 ที่ไม่เคยเตรียมตัวมาก่อนจริงๆ เพราะถ้าจะเอาจริงต้องเรียนกันตั้งแต่ ป.4
          ช่วงระหว่างนั้นการวางแผนและการเลือกโรงเรียนมันมีรายละเอียดอย่างมาก ที่บอกว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนสอบตรงกันนั้น ไม่จริงครับ มีหลายโรงเรียนสอบไม่ตรงกับที่อื่นๆ โดยเฉพาะโรงเรียนสาธิต
          และโรงเรียนสาธิตเดียวที่ประกาศรับนักเรียนความสามารถพิเศษ นั่นคือ สาธิตประสานมิตร โรงเรียนสาธิตชื่อดังที่ใครๆ ก็อยากไปเรียน ซึ่งต่อแต่นี้ไปผมจะพูดถึงการสอบเข้าด้วยดนตรีของโรงเรียนนี้เท่านั้น โรงเรียนอื่นผมไม่มีประสบการณ์จริงๆ

เงื่อนไขและคุณสมบัติ
          โควตาที่รับนั้นมีแค่ 10 ที่นั่ง แต่ถ้าถามผมว่าเยอะหรือเปล่า ต้องบอกว่าใช่ได้เลย เพราะยอดรับม.1 ของโรงเรียนเพียงแค่ 100 ที่นั่งโดยประมาณ ขณะที่จำนวนเด็กที่สอบปกติจะประมาณหลักสองพันขึ้นไป หรือจะบอกว่าหนึ่งต่อยี่สิบนั่นเอง
          ตอนแรกที่นั่งคำนวณกับน้องเพลินเรายังคิดกันว่าคนสมัครสอบน่าไม่จะมาก แต่วันที่สอบดนตรีจริงๆ เราพบว่ามีผู้สมัครสอบถึง 43 คน ถือว่าแข่งขันกันสูงทีเดียว เพราะอัตราหนึ่งต่อสี่นี่มันก็โหดร้ายเหมือนกัน แต่เงื่อนไขไม่ได้จบแค่นั้น นั่นคือคนสมัครต้องสอบข้อเขียนด้วย
          ผมอาจเล่าข้ามไปข้ามมา ทนอ่านนิดนึงนะครับ นั่นคือ ปีนี้สาธิตประสานมิตรมาแปลกมาก เพราะปกติจะสอบจริงวันที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ เด็กเก่งทั่วประเทศจะมาลุยเวทีนี้กันหมด แต่ปีนี้กำหนดวันชนกัน นั่นทำให้เด็กต้องเลือกว่าจะมาหรือเปล่า เด็กที่จะสอบโรงเรียนใหญ่ๆ ที่อื่นๆ และเป็นเด็กเก่งๆ อาจไม่มาที่นี่ แต่ขณะเดียวกันถ้าเด็กที่เรียนดนตรีแต่มีทางเลือกโรงเรียนอยู่แล้ว กลายเป็นเรื่องคิดหนักเลยครับ
          น้องเพลินก็อยู่ในอาการนี้เหมือนกัน เพราะมาสอบดนตรีได้ แต่มาสอบข้อเขียนไม่ได้ จะเอายังไงดี ยอมเสียเงินสอบมั๊ย เนื่องจากค่าสอบแพงเลยนะครับ สมัครสอบธรรมดาหลักร้อย สมัครสอบดนตรีนี่ 2,000 บาท เอาเรื่องเหมือนกันนะครับ
          สุดท้ายสองพ่อลูกตัดสินใจว่าจะไปลองสอบดนตรี แต่ไม่ไปสอบข้อเขียน เรียกว่ายอมเสียเงินฟรีๆ เพราะรู้อยู่แล้วว่ายังไงก็สอบไม่ติด
          คำถามก็คือ เขาจะสอบอะไร ในเว็บไซต์ที่สมัครบอกว่า รับเครื่องสายกับเครื่องเป่า ไม่บอกอะไรมากกว่านี้ ไวโอลิน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส อันนี้แน่นอน แต่ว่า กีตาร์ อูคูเลเล่ เปียโน เอามั๊ย ไม่มีใครตอบ ส่วนเครื่องเป่าไม่ต้องห่วง เพราะขลุ่ยไทยไปรวมกับหมวดดนตรีไทยแล้ว
          ถามว่าน้องเพลินมั่นใจสุดนี่อะไร ก็เปียโน แต่เปียโนเขาจะรับมั๊ย ไม่รู้ กีตาร์น้องเพลินทิ้งมาพักนึงแล้ว อูคูเลเล่เก่งจริง แต่เขาจะยอมรับรึเปล่า เหลือแต่ไวโอลินแล้วครับ สุดท้ายเราเลือกไวโอลินที่เพิ่งเรียน ถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นแย่ที่สุดของเรา แต่ก็ลองดู
          เมื่อเลือกไวโอลินแล้ว คำถามต่อไปก็คือ เขาจะคัดเด็กระดับไหนกัน ผมเองแอบไปสืบวงในมาได้ความว่า ถ้าเล่นในระดับ Suzuki เล่ม 3-4 ได้ถือว่าโอเค โห โจทย์ยากเลยครับ น้องเพลินเล่นไวโอลินหนึ่งปีไม่มีทางถึงแน่นอน ทำไงหละครับ ไม่เป็นไร เอาเท่าที่ได้ ใจพวกเราคิดอย่างนั้น ทำให้ดีที่สุดของเราก็แล้วกัน
          ที่นี่เขาแปลกเพราะล้ำกว่าคนอื่น สมัครสอบผ่านทางเน็ต จ่ายเงินผ่านทางแบงค์ พอวันสมัครมีติววิชาการให้เด็กแถมด้วย แต่น้องเพลินไม่ได้ไปเพราะติดสอบอีกที่หนึ่งอยู่ แล้วที่นี่ไม่แคร์ว่าเด็กต้องมาสมัคร มายื่นเอกสารแล้วก็บอกว่าให้มาสอบดนตรีที่ตึกไหนในวันรุ่งขึ้น ตามที่แจ้งไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว เรียกได้ว่ามาเข้าคิวเอาวันสอบเลย
          ผมสรุปตรงนี้ก่อนว่า ค่าสมัคร 2,000 บาท สู้ไหวไม่กลัวเปลืองเงินก็เอา สอบดนตรีก่อนข้อเขียน แต่ต้องสอบข้อเขียนด้วยนะ ดนตรีสากลต้องเลือกเครื่องสายหรือเครื่องเป่า และรับเพียง 10 คนเท่านั้น

ประสบการณ์วันสอบ
          บรรยากาศวันสอบมันส์และกดดันน่าดูเลยครับ จะมีโต๊ะให้เด็กลงทะเบียนพร้อมรับบัตรคิวล่วงหน้า ในช่องลงทะเบียนเด็กต้องบอกว่าเลยว่าจะใช้เครื่องดนตรีอะไรสอบ เรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เวลาเข้าสอบเข้าทีละ 5 คิว เด็กขึ้นไปสอบผู้ปกครองรออยู่ข้างล่าง
          เริ่มสอบตอน 9 โมงเช้า เด็กมากันก่อนแปดโมงเช้าเยอะเลย เด็กก็หลากหลายมากวันนั้น เพราะจะมีทั้งเด็กความสามารถพิเศษกีฬา เด็กโขน เด็กดนตรีไทยและนาฏศิลป์
          พวกดนตรีสากลนี่น่ากลัวสุด โดยเฉพาะพวกเครื่องเป่า เพราะบรรยากาศก่อนเข้าห้องสอบ ที่เด็กกองรวมกันนี่เด็กเครื่องเป่าพองัดอุปกรณ์ของตนเองมาซ้อมมือซ้อมปอดของตัวเอง เสียงมันดังกลบเสียงซ้อมคนอื่นเขาหมด มีทั้งแซกโซโฟนขนาดต่างๆ ฟรุต ทรัมโบน และเครื่องเป่าแปลกๆ มาหมด เข้าใจว่าพวกนี้มาจากวงโยธาวาทิตของโรงเรียนเดิม
          เท่าที่ผมสังเกตเอานะครับ เด็กที่มาสอบดนตรีสากลทั้งหมด ผมยืนยันว่าทั้งหมด มาจากโรงเรียนเอกชนทั้งสิ้น อาจเป็นเพราะค่าเรียนดนตรีมันแพง มันต้องเรียนต่อเนื่องนานๆ จึงเห็นผล ผู้ปกครองต้องมีเวลาไปรับไปส่งลูก และที่สำคัญเด็กจะสอบเข้าสาธิตประสานมิตรมันต้องมีฐานะครอบครัวระดับนึง อีกทั้งไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนต่อม.1 เพราะถ้าสอบไม่ติดข้อเขียน โอกาสจะเข้าที่อื่นก็ยากเพราะมันสอบตรงกัน
          บอกได้เลยครับ เด็กที่มามีหลายเกรดจริงๆ พวกที่เก่งอย่างไวโอลินนี่ เก่งจริงเลยครับ พวกกีตาร์มีคลาสสิคกระเด็นมาคนเดียว กีตาร์ไฟฟ้าก็มีครับ เปียโนเห็นมีคนเดียว เด็กน้อยอูคูเลเล่ก็มีครับ แต่ดูเหมือนตอนที่ซ้อมกับแม่จะเล่นแค่ตีคอร์ดร้องเพลง ถ้าแค่นี้ติดนี่ผมจะกราบเลยครับ
          หลังจากวอร์มอัพกันแล้ว ได้เวลาเรียกตัวแล้วครับ ที่นี่จะเรียกไปครั้งละ 5 คน ไม่ให้ผู้ปกครองตามไปดูนะครับ เพราะผู้ปกครองนี่ตัวยุ่งเลย เด็กมันไม่แกร่งเพราะมีพ่อแม่แหง่นี่แหละครับ ทีแรกผมกับลูกก็เถียงกันว่า เขาน่าจะมีห้าห้อง เข้าไปพร้อมกันแต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้นครับ ปรากฏว่าห้องสองมีห้องเดียว เด็กขึ้นไปพร้อมกันก็ต้องไปนั่งรอตามคิว
          ตอนสอบในห้องจะมีครูอยู่ 5 คน แล้วก็มีรุ่นพี่อีก 5 คน รวมแล้วเป็น 10 คนเลยครับ แบบว่าเด็กที่ไม่คุ้นกับการเล่นหน้าคนเยอะๆ แบบมีคนนั่งจ้องยืนจ้อง รับรองสั่นเป็นเจ้าเข้าเล่นไม่ออกแน่ ถ้าให้ดีก็ซ้อมแบบมีคนดูซะหน่อยก็ดีนะครับ
          เวลาสอบกรรมการจะขอดูเพลงเดียวครับ ไม่ต้องซ้อมไปเยอะ เอาเพลงเดียวของเราให้ขึ้นใจเล่นให้คล่อง ส่วนผมเองไม่รู้กติกามาก่อน ก็ให้ซ้อมไปหลายเพลงหลากหลาย แต่ไม่คล่องซักเพลง พอขึ้นเวทีเลือกเล่นเพลงยากสุด ตะกุกตะกัก แบบว่าน้องเพลินรู้เลยว่าตัวเองไม่รอด
          พอเล่นจบเพลง ก็จะเป็นการ site reading หรือการอ่านโน้ตแบบฉับพลัน ตัวโน้ตก็สุดยอดมาก เข้าใจว่าเป็นโน้ตจริงที่ในวงโรงเรียนปัจจุบันเขาซ้อมกันอยู่ เพราะกระดาษโน้ตจะมีจุดแก้ไขโดยลายมือ แบบว่ามืออ่านโน้ตตัวแม่อย่างน้องเพลินถึงกับงง ว่าไอ้ที่เขียนนี่มันอะไรกันแน่
          ต่อจากนั้นก็มีการซักประวัติการเรียน การเล่นดนตรี เช็คโปรไฟล์ เราเองควรจัดโปรไฟล์ดนตรีลูกให้ชัดเจนก่อนไปสอบกันนะครับ เพราะอันนี้มีผลเลยทีเดียว
          สรุปตอนจบเลยนะครับ 1.เตรียมโปรไฟล์ดนตรีตัวเองให้พร้อม 2.เลือกเครื่องดนตรีได้เต็มที่ เลือกแล้วเล่น 1 เพลง เอาให้เจ๋ง 3.เตรียมเรื่องการเล่นแบบอัตโนมัติให้ดี โน้ตเพลงเป็นระดับกลางๆ 4.เตรียมเรื่องการเล่นให้กับคนเยอะๆ ดูไว้ด้วย จะได้ไม่ตื่นเต้น 5.ไปก่อนได้เปรียบ ลงทะเบียนรับคิวต้นๆ จะเยี่ยมมาก ขอให้ทุกคนโชคดีในการสอบปีต่อไปครับ
         


วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

ซื้อ Ukulele ให้ลูกไปเรียนแบบไหนดี




โดย พ่อน้องเพลิน

เมื่อลูกบอกว่าจะเรียนอูคูเลเล่ หรือ อุ๊ค พ่อแม่มักจะถามว่าจะเอาจริงมั๊ยลูก ความคิดแวบแรกอาจจะไม่คิดว่า ถ้าเรียนอุ๊คมันคงไม่เหมือนเรียนเปียโน กีตาร์ ไวโอลิน ฯลฯ เพราะความรู้สึกของคนส่วนใหญ่จะคิดว่า อุ๊ค เป็นเรื่องของความสบาย เล่นแบบเล่นเล่น อย่าไปซีเรียส และ “มันต้องเรียนด้วยหรือ???”

ที่ผมเจอจะมีสองกรณีสำหรับคนที่หลงลมลูกที่บอกว่าจะเรียนอุ๊ค นั่นคือ พาไปเรียนเลยแล้วหาซื้ออุ๊คให้ทีหลัง กับสองซื้ออุ๊คให้ลองก่อนแล้วค่อยพาไปเรียน จะแบบไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่ากัน

แต่ตรงนี้ผมขอเขียนสำหรับคนที่จริงจังนะครับ คือมั่นใจว่าจะต้องพาลูกไปเรียนอุ๊คแน่ และผลสุดท้ายคือต้องซื้ออุ๊คให้กับลูกหละ

คำถามที่ผมเจอบ่อยที่สุดคือ จะซื้ออุ๊คแบบไหนให้กับลูกดี??? เดินไปซื้ออุ๊คที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ราคาไม่กี่พันบาท บางทีเห็นในร้านหนังสือยังมีขายเลย

หลายครอบครัวไม่มั่นใจลูก จะซื้ออุ๊คราคาถูก ซื้ออุ๊คที่ขายกันในท้องตลาดทั่วไป เพราะตัวเองก็ไม่มีความรู้ ถ้าท่านกำลังเป็นเช่นนี้ กรุณาหยุดก่อน มาหาความรู้กันก่อนดีกว่า

อุ๊คมันก็เหมือนกับเครื่องดนตรีทั่วไป มีเลวมีดี ยิ่งราคาแพงก็ยิ่งเสียงดี มีเอกลักษณ์

อุ๊คถูกๆ ส่วนใหญ่ใช้วัสดุชั้นเลว ซึ่งประกอบด้วย ตัวอุ๊คที่ทำจากไม้อัด ซึ่งจะทำให้เสียงอู้อี้ไม่ไพเราะ ใช้สายเอ็นที่ไม่มีคุณภาพ เล่นยังไงก็เสียงไม่ใส ระบบเสียงข้างในไม่มีองค์ความรู้ประกอบ จัดวางเบรซซิ่งแบบมั่วๆ คอก็ทำจากไม้อัดทำให้การสั่นสะเทือนของเสียงไม่ดี แถมเล่นๆ ไปมีบาดมือด้วย ตัวปรับเสียงก็คุณภาพแย่ เล่นไปปรับไป เสียงไม่มาตรฐานซักที แน่นอนของเหล่านี้ถ้าจะให้ดีราคาก็จะแพงไปด้วย

คำถามคือ ถ้าดูไม่เป็น ไม่เคยรู้ว่าจะต้องดูอะไรบ้าง ควรจะทำอย่างไร เอาง่ายๆ เลยครับ ให้เลือกที่แบรนด์ หรือยี่ห้อ

อุ๊คนั้นถือเป็นเครื่องดนตรีประจำเก่าฮาวาย ที่นี่มีทั้งวัสดุอุปกรณ์ชั้นเลิศ และฝีมือช่างชั้นดีในการทำให้อุ๊คเสียงออกมาใสสบายเหมือนนอนเล่นอยู่ริมชายหาด แบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกของอุ๊คอยู่ที่นั่น แต่ไม่ใช่ว่าอุ๊คที่มาจากโรงงานที่ฮาวายจะเสียงดีกันทุกตัว

สี่แบรนด์ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับจากตลาดทั่วโลก นั้นมาจากฮาวาย เริ่มจาก Kamaka แบรนด์เก่าแก่ ที่มีไสตล์เสียงที่เป็นแบบวินเทจ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เอาเป็นว่าเพลงที่เล่นจากอุ๊คยี่ห้อนี้ยากต่อการ เลียนแบบจากยี่ห้ออื่น ตัวอย่างเช่น เพลงของ Jake Shimabukuro ศิลปินอุ๊คชื่อดังระดับโลก เล่นเพลงของเขาด้วยอุ๊คของ Kamaka กลายเป็นเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ยากต่อการเลียนแบบจริงๆ ราคาของอุ๊คยี่ห้อนี้ไม่ต้องห่วงเลยครับ เริ่มที่สามหมื่นกว่าบาทปลายๆ และของไม่ใช่หาง่ายๆ บางทีต้องรอกันเป็นปีเลยทีเดียว

แบรนด์ที่สองคือ  Kanile`a อ่านว่าคานิเลีย แบรนด์นี้เกิดหลังคามาค่า แต่พิถีพิถันทำอุ๊คซะเหลือเกิน อุ๊คที่ออกมาขายจึงสวยเช้งถูกตามถูกใจนักสะสมอย่างมาก เสียงที่ออกมาใส นุ่ม เหมือนฟังจากกีตาร์คลาสสิคชั้นดี

แบรนด์ที่สามคือ KoAloha เป็นแบรนด์ที่สร้างอุ๊คให้ดูเรียบง่ายที่สุด แต่เสียงกลับพุ่งที่สุด ราคาของแบรนด์นี้เทียบกับสี่แบรนด์ใหญ่ถือว่าเป็นราคาที่จับต้องได้ น่าสนใจมากในเมืองไทย

แบรนด์ที่สี่คือ KoAlou อ่านว่าโคอะลัว ในกระบวนการแบรนด์ทั้งหมดแบรนด์นี้ผลิตสินค้าราคาแพงที่สุด เมื่อเทียบกันตัวต่อตัว ผมเองไปร้านที่วางขายแบรนด์นี้อยู่ไปทีไรก็แค่จับ ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้เป็นเจ้า ของสักครั้ง เสียงอุ๊คของแบรนด์นี้แตกต่างจากอีกสามแบรนด์นั่นคือ สามแบรนด์แรกฟังยังไงก็มีความรู้สึกถึงทะเลเป็นหลัก แต่โคอะลัวนั้นเสียงจะทุ้มกว่า ฟังไปฟังมาเสียงเหมือนอยู่ในภูเขาซะงั้น

อย่างที่บอกว่าถ้าเล่นของดี มีแบรนด์การันตี ราคาเริ่มต้นก็หมื่นปลายเป็นต้นไป เรื่อยไปจนถึงเป็นแสน เพราะนอกจากจะมีองค์ความรู้การผลิตที่ดี ช่างที่มีความสามารถ โรงงานที่มีเครื่องมือคุณภาพ ใช้ไม้ Koa หรือ โคอะ ที่ปกติจะขึ้นอยู่บนดินภูเขาไฟเท่านั้น และฮาวายคือที่ปลูกไม้ชนิดนี้ได้ดีที่สุด โรงงานพวกนี้จะเลือกไม้คุณภาพดี สวย เก็บอบแห่งอย่างยาวนาน ทำให้เมื่อนำมาผลิตเสียงจะอยู่ตัว แทบจะตั้งเสียงน้อยมาก

ที่สำคัญอย่างที่บอก โรงงานพวกนี้จะทำงานแบบครอบครัว พนักงานในโรงงานคือลูก หรือลูกศิษย์ไม่กี่คน ความสามารถในการผลิตปีหนึ่งๆ ไม่เกินพันตัว ที่สำคัญคือส่งขายทั่วโลก ดังนั้นไม่แปลกที่ในไทยจะหาซื้ออุ๊คพวกนี้จากร้านขายได้เพียงไม่กี่ร้าน ที่เห็นก็มีเพียงสองร้านสำคัญๆ เท่านั้น

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจไม่สู้ครับ คือมองว่าราคามันแพงไป ลูกเราอาจดูแลของแพงไม่ได้ เรื่องแพงนี่เดี๋ยวว่ากันต่อ แต่เรื่องดูแลของไม่ได้อันนี้ผมเถียงใจขาด เพราะประสบการณ์จากลูกสาวผมที่มีอุ๊คราคาหลายหมื่นมาเล่นตั้งแต่ห้าหกขวบ เธอก็ดูแลอุ๊คหลายตัวนั้นอย่างดี ผมว่าถ้าเรามั่นใจเขานะครับ เขาก็จะมั่นใจตัวเองตามไปด้วย

คราวนี้มาว่ากันเรื่องแพง บอกตรงๆ ถ้าไม่รักจริง ราคาขนาดนี้ต้องถือว่าแพง แต่ถ้าคนที่คิดว่าจะมาทางนี้ ราคาพวกนี้ไม่น่าจะมีปัญหา และผมบอกตรงนี้เลยว่า ของพวกนี้ราคาไม่ตก วันไหนเบื่อมีคนอยากซื้อต่อ หมุนเปลี่ยนมือได้ง่ายๆ

เมื่อไม่เอาแบรนด์ใหญ่ จะสนแบรนด์เล็กแต่คุณภาพเจ๋งๆ มีไหม พอมีครับ ประการแรก ผมแนะนำให้ไปร้านอุ๊คที่ขายแบรนด์ใหญ่นั่นแหละครับ พวกนี้จะมีแบรนด์รองๆ ได้อุ๊คที่มาจากไม้แท้ และคุณภาพเสียงระดับปานกลาง ราคาประมาณ 6,000 ถึงหนึ่งหมื่น อันนี้ต้องบอกว่าปานกลางแล้วนะครับ ราคาต่ำกว่านี้ผมไม่แนะนำนะครับ

เมื่อได้แล้ว คราวนี้มาหาครูกันดีกว่าครับ ใครกันละที่จะสอนอุ๊คให้ลูกเราดี คราวหน้าผมจะมาบรรเลงต่อครับ

วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2557

บทเริ่มต้นของการพาลูกไปเรียนอูคูเลเล่



โดย พ่อน้องเพลิน

เครื่องดนตรีที่ถูกพูดถึงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาคือ Ukulele อ่านว่าอูคูเลเล่ ชื่อเล่นของมันคือ อุ๊ค ไม่น่าเชื่อว่าในช่วงปิดเทอมของลูกๆ โรงเรียนดนตรีทั้งหลายจะสามารถรับสมัครนักเรียนใหม่เพื่อมาเรียนเครื่องดนตรีชิ้นนี้เพิ่มมากขึ้นแบบไม่น่าเชื่อ

ผมมีประสบการณ์มาเล่าให้ฟังกันครับ ลูกสาวผมเรียนเปียโนตอน 5 ขวบ พอช่วง 7 ขวบเธอรู้สึกว่าอยากเล่นกีตาร์ขึ้นมา ผมเลยซื้อกีตาร์ทรงเดรดนอท กับทรงจัมโบ้ เพราะผมชอบไม่ใช่ลูกชอบ แน่นอนครับคนที่คุ้นเคยกับกีตาร์จะรู้ว่าเจ้าสองทรงนี้มันค่อนข้างไปทางขนาดที่ใหญ่โต แม้ว่าลูกสาววัย 7 ขวบของผมจะโตใหญ่กว่าเด็กรุ่นเดียวกัน แต่เธอก็ไม่สามารถประคองโอบกีตาร์สองตัวของผมได้ ถือเป็นการเสียโอกาสสำหรับเธออย่างมาก

แน่นอนขณะนั้นอุ๊คกำลังเริ่มดัง ผมคิดในใจทันทีว่าอุ๊คน่าจะเหมาะกับลูกสาวผม ด้วยสรีระที่ไม่ใหญ่เกินไป และความที่มันเล่นง่ายในความคิดเห็นของผม จากการที่เล่นกีตาร์มาก่อน เชื่อได้ว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้น่าจะเป็นที่ถูกใจของลูกสาวผมแน่

ว่าแต่จะไปหาครูที่ไหนสอนหละครับ??? กลายเป็นเรื่องใหญ่ของผมในขณะนั้นไปเลยทีเดียว

สิ่งที่ยังเป็นอยู่ในตอนนั้นจนถึงตอนนี้ก็คือ ครูที่สอนอุ๊คทั้งหมดในเมืองไทย คือคนที่เรียนกีตาร์มา ไม่ใช่คนที่เรียนอุ๊คมาโดยตรง ไม่มีหลักสูตรสำหรับอุ๊ค ไม่มีการสอบ ไม่มีประกาศนียบัตร บอกได้เลยว่าไม่มีอะไรเป็นมาตรฐานสำหรับเครื่องดนตรีชิ้นนี้

เอาหละสิ ทำไงดีหละคราวนี้ ผมค่อยๆ เริ่มทำการศึกษามันอย่างจริงจัง เพราะคิดว่าถ้าจะเสียเงินทั้งที คงต้องจ่ายให้มันคุ้มค่าหน่อย

เริ่มจาก ตัวเครื่องดนตรีกันก่อนเลย อุ๊ค ใครว่าราคาไม่แพง ผมซื้อทีไรแพงทุกที

อุ๊คเป็นเครื่องดนตรีที่มีสเน่ห์ ขณะเดียวกันก็มีศาสตร์และศิลป์ในการทำเช่นเดียวกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ของถูกก็มี ของดีก็แพงครับ เป็นเหมือนกันทุกวงการ

พ่อแม่คนไหนที่จะซื้ออุ๊ค โดยเฉพาะให้เด็กตัวเล็ก อุ๊คตัวละพันสองพันมีขายครับ และขายดีมากด้วย ร้านหนังสือธรรมดาตามห้างยังมีเลยครับ แต่บอกตรงๆ จากประสบการณ์ผมไม่แนะนำครับ

อุ๊ค มี 4 ขนาด ตัวเล็กสุดคือ โซปราโน เสียงที่ได้จะเล็กตามไปด้วย แบบว่าเสียงสดใสเหมือนเด็กเลยครับ, คอนเสิร์ต เป็นไซต์ต่อมา จริงๆ ถ้าเปรียบเป็นแซกโซโฟน ตัวนี้ก็คือ อัลโต้ หละครับ ซึ่งไซต์นี้เป็นขนาดยอดนิยม ใช้ได้ตั้งแต่เด็กยันโต, เทอเนอร์ เป็นตัวขนาดใหญ่ ไม่เหมาะกับเด็กเล็กอย่างยิ่ง ไซต์นี้ส่วนใหญ่พวกมือโปรเขาจะใช้กัน แน่นอนฟิงเกอร์บอร์ดที่ยาวกว่า และเสียงที่เฟิร์มกว่าทำให้พวกมือโปรนิยม และสุดท้ายคือบาริโทน ตัวนี้นอกจากจะหาซื้อยากแล้ว ยังเล่นแตกต่างจากตัวอื่นๆ แต่ผมเคยฟังโปรเล่นแล้วมันสุดยอดมาก เอาเป็นว่าเจ้าตัวนี้อย่าไปแตะมันถ้าไม่จำเป็นก็แล้วกัน

สรุปในช่วงนี้ก่อนก็คือ ถ้าแนะนำว่าจะซื้ออุ๊คให้ลูกเรียน ถ้าคอนเสิร์ตไม่ใหญ่โตเกินไปสำหรับเด็ก ผมก็แนะนำ แต่ถ้าเด็กยังเล็กมาก โซปราโน คือคำตอบสุดท้ายครับ

คราวนี้ถามว่าไอ้ตัวถูกกับตัวแพงมันต่างกันยังไง ตอบได้เลยว่า เสียง

เสียงที่ออกมาเล่นโน้ตตัวเดียวกัน ผมเชื่อเลยว่าแม้เราจะไม่เป็นดนตรีเลยเราก็ฟังออกว่า เสียงมันแตกต่างกัน เราแยกแยะออกได้

ผมยังยืนยันเสมอว่าเครื่องดนตรียิ่งราคาสูง หากอยู่ในสเป็กเดียวกัน ก็ยังแตกต่างกันในด้านของบุคลิกเสียง

น่าเสียดายที่บ้านเรามีร้านขายอุ๊คดีๆ ไม่กี่ร้าน ทำให้อุ๊คพวกนี้ไม่แพร่หลาย แต่ก็ทำให้เราโฟกัสในการบอกกล่าวง่ายขึ้น ครั้งหน้าผมจะมาร่ายยาวต่อครับ รับรองลงลึกแน่นอนครับ

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

Alfred All In One เล่มที่ 5 รู้ซะก่อนจะพ้นเปียโนเด็ก

โดย พ่อน้องเพลิน

เด็กเล็กจะใช้เวลาสักพักหนึ่งก่อนเรียนจบเปียโนวัยเด็ก Alfred All in one เป็นด่านแรกที่เด็กๆ และผู้ปกครองจะต้องผ่านไปด้วยกัน เมื่อมาถึงเล่ม 5 จะรู้แล้วว่าลูกเรามีแววเก่งกับเขาไหม เพราะถึงตอนนี้ลูกคุณต้องเตรียมตัวสอบ เอาจริงเอาจังกับการเล่นเปียโน ต้องใช้เวลา พ่อแม่ต้องเอาใจใส่พอสมควร

มาดูกันว่าเล่ม 5 นี้เด็กจะเรียนอะไรกัน โดยผมได้สัมภาษณ์ครูพิม จากโรงเรียนดนตรีเกษตรศิลป์ ซึ่งเป็นผู้คร่ำหวอดกับการสอนเด็กๆ มายาวนาน อย่าได้รอช้า เข้าไปดูเนื้อหาของเล่ม 5 เล่มสุดท้ายก่อนเข้าสู่การเรียนเปียโนแบบผู้ใหญ่ได้เลย


วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Alfred All In One เล่มสี่ เรียนเปียโนแน่ๆ ถ้าถึงเล่มนี้

โดย พ่อน้องเพลิน

หลายครั้งที่เราลังเลว่าจะให้ลูกเรียนเปียโนดีมั๊ย เปีนโนเหมาะกับลูกเราหรือเปล่า ถ้าคุณต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือ Alfred All In One เล่มสี่แล้วละก็ไม่ต้องคิดอีกแล้วครับ ลูกคุณเรียนเปียโนอย่างสบายๆ ได้แน่ แต่ก็ยังสามารถเรียนเครื่องดนตรีชิ้นอื่นไปพร้อมกันหากลูกต้องการนะครับ อย่าไปปิดกั้นเฉพาะเปียโน

เนื่องจากพอถึงเล่มนี้ความสามารถในการอ่านโน้ตของลูกๆ จะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ จากแต่ก่อนเล่นกันแต่ในตำราเรียน หยิบโน้ตอย่างอื่นที่ไม่เคยเรียนมาให้ลองเล่น แม้มันจะดูง่าย แต่ไม่ใช่ว่าเด็กจะเล่นได้ เพราะการ Site Reading มันต้องฝึกกันพอสมควร

แต่เมื่อลูกๆ เข้าเล่มนี้และผ่านมันไปได้ เขาจะเล่นเพลงจากข้างนอกได้บ้างแล้ว พ่อแม่ทั้งหลายไม่ต้องตกใจไปนะครับ ต้องค่อยๆ และดูพัฒนาการไปเรื่อยๆ มาถึงตอนนี้ได้แต่เตรียมเงินให้เรียนต่อ และเตรียมส่งสอบได้แล้วครับ ถึงเวลาที่ลูกคุณจะต้องเอาผลงานมาอวดกันแล้วครับ

และอย่างเคย ขอบคุณครูพิม จากโรงเรียนดนตรีเกษตรศิลป์ที่มาถ่ายทอดความรู้ว่า เล่มสี่เล่มนี้ลูกๆ เราเรียนอะไรกัน มาอย่างละเอียดตามเคยครับ ไม่ผิดหวังจริงๆ