วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

เรียนดนตรีหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพียงพอแล้วหรือ?

โดย พ่อน้องเพลิน
  
นี่คือคำถามที่พ่อแม่มักไปตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์ทั้งชุมชนออนไลน์ใหญ่ๆ และเว็บไซต์เฉพาะทางทางด้านดนตรี แต่ผมเชื่อขนมกินได้เลยว่า หลายท่านอาจได้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งผมเห็นด้วยว่าคำตอบมันมีหลายอย่างขึ้นกับประสบการณ์และตัวเด็ก

แต่ก่อนอื่นเรามาวิเคราะห์โรงเรียนดนตรีในปัจจุบันกันก่อนดีกว่า
  
โดยพื้นฐานทั่วไปแล้ว โรงเรียนดนตรีจะคิดค่าบริการการสอนเป็นรายชั่วโมง และตกลงกันเป็นคอร์ส ชั่วโมงเรียนของคอร์สแล้วแต่ละโรงเรียนจะกำหนด อันนี้ทางการตลาดถือว่าเป็น product package ซึ่งราคาแต่ละแห่งก็แตกต่างกันไปตามสภาพ หากเป็นเด็กเล็กอายุไม่ถึง 5 ขวบ หรือเด็กที่เพิ่ง เข้ามาเรียนใหม่ๆ โรงเรียนจะให้เรียนครึ่งชั่วโมง
  
ที่เป็นอย่างนั้นเพราะต้องการดูปฏิกริยาของเด็ก และปฎิกริยาของผู้ปกครอง เรียกว่าขอวัดใจกันก่อน
  
การเรียนครึ่งชั่วโมงถือว่าเป็นเวลาที่สั้นมาก บอกตรงๆ เด็กที่จะเอาจริงด้านนี้ต้องบอกว่าน้อยเกินไป แต่ช่วงเวลาที่เริ่มต้นเช่นนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก เป็นช่วงของการตัดสินใจไปต่อหรือไม่กันเลย ถ้าหากมีแววงานนี้มียาว
  
เชื่อไหมครับว่า โรงเรียนดนตรีในประเทศไทยส่วนใหญ่จะคิดว่า เด็กเรียนดนตรีกับครูสักชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็พอ หลังจากนั้นกลับบ้านไปให้ไปซ้อม ถ้าทำได้แล้วค่อยไปต่อ สาเหตุที่คิดอย่างนั้นก็เพราะดนตรีมันต้องซ้อม ต่อให้ตอนเรียนในห้องจะพอทำได้ กลับบ้านไปถ้าไม่ซ้อม ไม่ทำให้ร่างกายจดจำ ร่างกายไม่คุ้นเคย ความเข้าใจอย่างเดียวจะช่วยได้แค่ระดับหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งก็กลัวว่าจะถูกผู้ปกครองด่าว่าจะงกเงินกันไปถึงไหน อยากให้ลงเยอะๆ จะได้เอาเงินฉันไปหละสิ


นอกจากแพคเกจหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้ว ยังมีแพคเกจเรียนแบบกลุ่ม เรียนคู่ ฯลฯ คือในหนึ่งชั่วโมงนั้นครูไม่ได้สอนลูกเราอยู่คนเดียว แต่จะสอนคนอื่นไปด้วยพร้อมกัน ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน

นั่นคือสอนพร้อมกันแบบเห็นกันต่อหน้าต่อตา เล่นไปด้วยกันเลย อันนี้จะไม่นิยมในเด็กเริ่มโตแล้ว แต่จะนิยมในเด็กเล็กๆ มากกว่า

อีกวิธีหนึ่งคือ เรียนกันคนละห้อง ครูจะเดินสายไปมา เข้าห้องนั้นมาฟังนิดนึง เสร็จแล้วบอกโจทย์ให้ทำ เสร็จแล้วปล่อยให้นักเรียนลองเอง ตัวเองก็วิ่งไปอีกห้องหนึ่ง ทำแบบเดียวกัน แล้ววิ่งมาห้องเดิมเพื่อดูว่าที่สั่งให้ทำไปแล้วนักเรียนทำได้ไหม วนเวียนกันอยู่อย่างนี้
  
บอกตามตรงผมไม่ศรัทธาแนวทางการเรียนแบบนี้ ผมว่าเด็กไม่ค่อยได้อะไรมากเท่าไหร่ จริงอยู่ที่แพคเกจนี้จะพบบ่อยมากสำหรับครอบครัวที่นำพี่น้องอายุใกล้เคียงกันมาเรียนดนตรี เพราะพ่อแม่มาส่งทีเดียว เริ่มพร้อมกัน กลับพร้อมกัน และเป็นการประหยัดงบประมาณ เรียนหนึ่งชั่วโมงได้สองคน
  
คราวนี้กลับมาคำถามที่เราตั้ง โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานว่า เรียนตัวต่อตัวกับครู สัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมงเพียงพอหรือไม่? ขอตอบเลยว่า ขึ้นกับเด็ก เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมครอบครัวต่างกัน ความคาดหวังและพฤติกรรมของพ่อแม่ก็ต่างกัน
  
ผมขอยกตัวอย่างประสบการณ์จากลูกสาวผมก่อน ประการแรกลูกสาวผมเป็นเด็กประเภทจริงจังกับการเรียนต่อหน้าครูมาก คืออยู่ต่อหน้าครูจะรู้สึกว่าครูเป็นคนแปลกหน้า ไม่กล้าเล่น ไม่กล้าพูด ไม่กล้าสื่อสาร ครูสั่งอะไรก็พยายามทำ ไม่งอแง ไม่วอกแวก ครูจะมาเล่าให้ฟังเสมอว่าลูกผมเวลาอยู่ในห้องเหมือนกับเด็กมหาวิทยาลัยมาเรียนดนตรี ไม่เหมือนเด็กปกติที่ต้องใช้ลูกล่อลูกชน และคอยจะเล่นตลอดเวลา

แต่ในขณะที่คุณลูกของผมตั้งใจเรียนให้ห้องอย่างมาก เมื่อมาถึงบ้านกลับไม่ค่อยอยากซ้อม สิ่งที่ผมสังเกตคือ ถ้าเป็นเพลงที่เธอเล่นได้จากห้องเรียนแล้ว เวลามาเล่นที่บ้านเธอจะรู้สึกว่ามันไม่ท้าทาย เล่นรอบเดียวได้แล้วก็จะไม่เล่นอีก ส่วนเพลงที่เล่นไม่ได้เมื่อมาซ้อม เล่นอย่างไรก็ผิด เพราะไม่มีคนชี้แนะให้ ไม่เหมือนที่เรียนในโรงเรียนที่มีครูชี้แนะและแก้ไข

ไอ้ครั้นจะถามพ่อแม่ก็หมดหวังเพราะไม่เป็นกันทั้งนั้น ดังนั้นเต็มที่ในการซ้อมของเธอคือ อาทิตย์ละครั้ง แต่ละครั้งไม่เกินครึ่งชั่วโมง บ่อยครั้งเข้าถึงกับไม่ซ้อมเอาเลย
  
กลายเป็นว่าสภาพแวดล้อมของโรงเรียนเอื้อต่อการเรียนของลูกผมมากกว่าที่บ้าน เธอต้องการความรู้จากครูมากกว่าความพยายามที่จะซ้อมและหาความชำนาญด้วยตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าเด็กหลายคนเป็นอย่างลูกผม คำถามตอนนั้นของผมก็คือ จะหาโซลูชั่นแก้ไขโจทย์นี้ได้อย่างไร เพราะถ้าปล่อยไปอย่างนี้ ลูกคงจะก้าวหน้าได้ยาก
  
เชื่อไหมครับว่า ปัญหาลูกไปเรียนหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้วกลับบ้านมาไม่ซ้อม เป็นปัญหาที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ตัดสินใจว่า ลูกไม่คิดจะเอาดีทางนี้ ดังนั้นจึงตัดใจและไม่ส่งลูกเรียนดนตรีต่อไปในที่สุด โดยให้เหตุผลว่าลูกไม่ตั้งใจ ทำอะไรก็ไม่จริงจัง โดยไม่คิดวิเคราะห์ถึงปัญหา และไม่ดูสภาพโดยรวมที่แท้จริงก่อน ปัญหาทั้งหมดโยนไปที่เด็ก
  
การแก้ไขปัญหานี้จริงๆ มีได้หลายวิธี ผู้ปกครองบางคนจ้างครูพิเศษมาสอนเพิ่มเติม ลองเอามือดีมีชื่อเสียงมาสอนกันเลย ซึ่งก็ต้องจ่ายแพงขึ้น 

บางคนสร้างแรงบันดาลใจใหม่ หาเพื่อนหรือพี่น้องมาซ้อมมือด้วยกัน พ่อแม่บางคนยอมไปเรียนดนตรีอย่างอื่นเพื่อมาเล่นคู่กับลูก ก็ต้องดูว่าลูกคุณยอมรับกับสภาวะแวดล้อมแบบไหนมากกว่ากัน
  
ส่วนตัวผมเองนั้น มีลูกสาวคนเดียว เพื่อนข้างบ้านไม่มี แม้ผมจะเล่นกีตาร์ได้บ้าง แต่เพลงที่ลูกเรียนส่วนใหญ่จะไม่ใช่เพลงแนวที่ผมเล่น จะให้เล่นคู่กันจึงยาก ดังนั้นโซลูชั่นที่เหมาะกับผมมากที่สุดก็คือ ไปเพิ่มชั่วโมงเรียนให้กับลูกสวนทางกับผู้ปกครองคนอื่นไปเลย คือจากเรียนหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็เป็นเรียนสองชั่วโมงต่อสัปดาห์
  
บอกตามตรง วิธีการแก้ไขปัญหาของผมครั้งนี้ทำให้ครูและโรงเรียนแปลกใจ และกังวลว่าจะทำให้เด็กเครียดและหนักเกินไปหรือเปล่า?
  
แต่ก่อนจะเสนอโซลูชั่นนี้ผมนั่งจับเข่าคุยกับลูกสาวผมแล้ว สิ่งที่ผมคุยก็คือ แจกแจงให้เธอฟังว่าแต่ละชั่วโมงที่เธอไปเรียนนั้นผมต้องเสียเงินเท่าไหร่ และหากเธอกลับมาบ้านแล้วไม่ซ้อม พอไปเรียนเธอก็เล่นไม่ได้ ผมจะต้องจ่ายเงินจากการไม่ซ้อมของเธอเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเธอเข้าใจดี เธอก็อยากทำให้ดีที่สุดเช่นกัน

ดังนั้นเมื่อเราเห็นตรงกันก็ต้องช่วยกันหาทางออก และทางออกด้วยการเรียนชั่วโมงเพิ่มนั้น ก็เป็นหนทางที่ผมต้องเสียเงินเพิ่มเป็นสองเท่า เพื่อแลกกับการให้เธอซ้อมที่บ้านน้อยลง
  
ผลจากการทดลองแก้ปัญหานี้ ทำให้ลูกผมก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ดังนั้นสำหรับลูกสาวผม เรียนดนตรีสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง ปัจจุบันตอนที่ผมเขียนเรื่องราวเหล่านี้อยู่ ลูกสาวผมเรียนดนตรีสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง และตอนปิดเทอมเธอใช้เวลาเรียนมากกว่านี้ เรียกว่า ว่างเป็นเรียน
  
อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ปัญหาอย่างผม อาจไม่เหมาะกับเด็กคนอื่น ผมว่าแต่ละคนอาจจะมีวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันได้ ขอเพียงอย่างเดียวว่า ผู้ปกครองต้องรู้จักสังเกต ต้องรู้จักลูกของคุณอย่างดี และพยายามหาทางเลือกที่ดี่สุดให้ลูก

ไม่ใช่เจอปัญหาแล้วตัดสินใจไม่เรียนต่อเพื่อยุติปัญหา ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดปมกับลูกของคุณไปจนโต กลายเป็นเรื่องน่าเสียใจอันหนึ่งของครอบครัวไปเลย
  
จุดสังเกตของผมอย่างหนึ่งก็คือ เด็กก่อนอายุสิบขวบจะมีแรงที่จะซ้อมที่บ้านน้อยมาก อาจเพราะพวกลูกๆ ยังเด็กเกินไป และมีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำมากมาย ไหนจะเรียน จะเล่น ความมุ่งมั่นก็มีไม่มาก

แต่พอหลังจากสิบขวบไปแล้วแรงฮึดจะมีเยอะกว่า บางคนนั่งซ้อมได้เป็นชั่วโมง และยิ่งจะขยายเวลาไปเรื่อยๆ ทำไปทำมาซ้อมกันอย่างน้อยสี่ชั่วโมงต่อวันยังมีเลยครับ ดังนั้นช่วงต้นถ้าลูกซ้อมน้อยก็อย่าเพิ่งวิตกไป แต่ในทางกลับกันพวกวัยรุ่นอาจมีจุดสนใจมากขึ้น บางคนมีแฟนโดยเฉพาะลูกสาวนี่การเรียนดนตรีแทบจะหยุดไปเลย ฯลฯ
  
สรุปตรงนี้คือ ถ้าลูกเรียนหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้วกลับไปซ้อม แล้วผลงานดีอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโชคดีของครอบครัว เดินหน้าต่อไปเลย 

แต่ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ที่ต้องการ หรือสภาวะแวดล้อมต่อการเรียนมันไม่เอื้อ ให้กับมาศึกษาลูกเราให้มากกว่าเดิม และหาโซลูชั่นที่เหมาะกับเขาและเธอให้มากที่สุด ที่สำคัญคือนั่งจับเข่าคุยกับลูกอย่างเปิดอก และนำเสนอการแก้ไขปัญหากับลูกอย่างตรงไปตรงมา โดยแนวทางแก้ไขนั้นต้องได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น