วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ตำราเรียนและโน้ตเพลง ใครว่าไม่สำคัญ

โดย พ่อน้องเพลิน

นอกจากค่าเล่าเรียนกับโรงเรียนหรือครูตามปกติแล้ว ยังไม่นับรวมถึงเครื่องดนตรีที่ต้องซื้อให้ลูกซ้อมหรือนำไปเรียน ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งที่ผู้ปกครองลืมนึกไปก็คือ ค่าหนังสือเรียน

จริงๆ ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่น่าจะคุ้นเคยนะครับ เพราะตอนเปิดเทอมโรงเรียนปกติของลูกพวกเราก็ต้องควักเงินจ่ายค่าหนังสือกันอยู่แล้ว และค่าหนังสือเราก็ไม่ได้เลือกเองอีกด้วย ทางโรงเรียนเลือกมาให้เสร็จว่าจะสอนในเล่มนี้ เอาแบบชุดแพคหนึ่งปีกันไปเลย แถมในช่วงเรียนไปแล้วอาจมีหนังสือเรียนเสริมต่างๆ รวมทั้งหนังสืออื่นๆ ที่พ่อแม่บางคนซื้อให้ลูกอ่านโดยเฉพาะ เช่น เฉลยข้อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ

สำหรับโรงเรียนดนตรีก็เช่นกัน หนังสือเรียนเป็นเรื่องสำคัญ แรกๆ หนังสือเรียนอาจไม่มาก ประมาณว่าขั้นละเล่ม แต่รูปแบบการบังคับซื้ออาจต่างกันไป

บางแห่งบังคับซื้อกันเป็นชุด ขายแบบเหมารวมชนิดกลัวผู้ปกครองจะเลิกเรียนเสียกลางคัน พวกนี้ก็ดูจะเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป บางโรงเรียนก็ดีคือ เด็กผ่านเมื่อไหร่ค่อยมาซื้อเล่มใหม่ไปเรียน

แน่นอน การซื้อผ่านโรงเรียนดนตรี ทางโรงเรียนก็ได้กำไรบ้าง แต่ต้องบอกว่าไม่มากหรอกครับ ผมถือว่าช่วยสนับสนุนโรงเรียนให้อยู่รอด เพราะเล่มหนึ่งอาจใช้เวลาในการเรียนอย่างน้อย 2-3 เดือนเลยทีเดียว

ช่วงเด็กๆ เล่มแรกๆ อาจเปลี่ยนหนังสือบ่อย แต่พอขึ้นไปขั้นกลางแล้วหนังสือบางเล่มเรียนกันเป็นปีๆ เลยทีเดียว

ครูบางคนใจดีครับ หยิบตำราของตัวเองไปให้ผู้ปกครองถ่ายเอกสาร จากเล่มละ 4-5 ร้อยบาท เหลือต้นทุนไม่ถึง 100 บาทก็มี แต่ยังไงแล้วผมแนะนำให้ซื้อของจริง เพื่อสนับสนุนงานลิขสิทธิ์นะครับ

อีกทั้งตอนที่สอบกับสถาบันสอบทั้งหลายแหล่ หากเอาตัวถ่ายเอกสารมาสอบนี่เขาปรับตกเลยนะครับ ดังนั้นห้ามเอาความคุ้นเคยมาใช้กับเรื่องนี้เป็นอันขาด

อีกอย่างหนึ่งคือตอนสอบนั้นหนังสือของเราต้องไม่มีลายมือ หรือการโน้ตใดๆ ลงไปนะครับ ตอนที่เด็กเรียนกับครูส่วนใหญ่มักจะไฮไลต์กันบ้าง บันทึก หรือแปลคำศัพท์ที่เราไม่คุ้นเคยลงในหนังสือบ้าง
ดังนั้นไม่แปลกหากเราจะเอาตัวถ่ายเอกสารมาเรียน แต่ขณะเดียวกันก็ควรมีตัวจริงเก็บเอาไว้ในช่วงสอบ

จะว่าไปแล้วตำราดนตรีบ้านเราส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศล้วนๆ และมีหลากหลายสถาบัน ขึ้นกับว่าสถาบันใดจะเลือกใช้สอนแบบไหน

ดังนั้นตำราของแต่ละที่ที่เด็กใช้เรียนอาจแตกต่างกันออกไปตามสภาพ ที่สำคัญแต่ละเล่มนั้นแพงพอสมควรเมื่อเทียบกับหนังสือทั่วไป ผู้ปกครองหลายคนไม่คิดเรื่องนี้มาก่อนอาจพลาดได้

จุดสังเกตอย่างหนึ่งของผมก็คือ มีบางสถาบันค่อนข้างซีเรียสเรื่องตำราเรียนอย่างมาก อยู่ๆ นักเรียนจะมาซื้อหนังสือเรียนที่ต่างชั้นกับตัวเองเรียนไม่ได้ รวมถึงครูผู้สอนด้วย หากสอนอยู่ในขั้นต่ำ จะมาซื้อตำราขั้นสูงไปศึกษาไว้ก่อนไม่ได้ จนกว่าจะผ่านการอบรมของโรงเรียนนั้นๆ ซะก่อน นัยว่าเป็นการรักษาความลับทางการค้าของตัวเอง เพราะแนวทางของตำราก็คือแนวทางหลักการสอนของสถาบันนั้นๆ เลย

จริงๆ แล้วถ้าตำราเรียนมันจบอยู่ที่ตำราหลักมันก็คงดี แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้ปกครองก็ยังคงต้องควักเงินเพิ่ม เพื่อซื้อตำราที่เกี่ยวข้องทั้งจากคำแนะนำของครูผู้สอน รวมถึงซื้อโน้ตเพลงที่เกี่ยวข้อง และโน้ตเพลงเฉพาะทาง หรือโน้ตเพลงสากลเพิ่มเติมที่จะมีเข้ามาใหม่ตลอดเวลา อย่างที่บอกหนังสือแต่ละเล่มราคาก็ 500 บาทขึ้นไป

จากประสบการณ์ของผมแล้ว ผมแทบจะซื้อหนังสือโน้ตเพลงใหม่ให้ลูกผมอย่างน้อยเดือนละเล่มกันเลยทีเดียว โอเคถ้าเป็นโน้ตเปียโนก็จะหาง่ายหน่อย เพราะเป็นเครื่องดนตรียอดนิยม

สถาบันดนตรีทั่วไปก็จะมีวางโชว์ และมีร้านหนังสือเฉพาะทางที่เกี่ยวกับโน้ตเพลงในเมืองไทยอยู่ 2-3 รายให้เรา เห็นวางขายอยู่

แต่ช้าก่อน หนังสือโน้ตเพลงเหล่านี้ถ้าซื้อไม่เป็นอาจช้ำใจภายหลังได้ เพราะมีบางครั้งที่ เกิดการปลอมแปลงโน้ตขึ้นมาขายกันเองของตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้ เรียกว่า copy มาแต่ไม่ทั้งหมดกันการฟ้องร้องว่างั้น ผลก็คือเป็นความซวยของพวกเราไป เพราะพอครูที่สอนเห็นจะรู้ทันทีเลยว่านี่มัน ปลอม

เรื่องแบบนี้ถามครูผู้สอนดีที่สุดครับว่า เขาไว้วางใจตัวแทนจำหน่ายรายใด และรายใดต้องระวังเป็นพิเศษ หรือต้องเดินไปซื้อโน้ตเพลงกันที่ร้านนำเข้าหนังสือต่างประเทศที่อยู่ตามห้าง บอกเลยว่ามีน้อยและไม่เหมาะกับโน้ตที่จะเรียนกันมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเพลงตลาดๆ ซะมากกว่า

สำหรับการสั่งซื้อหนังสือทางออนไลน์แม้ใครจะว่าสะดวก แต่การที่เอาแน่เอานอนในเรื่องการจัดส่งและภาษีที่จะตามมาทำให้ทุกครั้งที่อย่างสั่งมันจึงลังเล

ที่จริงร้านหนังสือใหญ่ในห้างก็มีบริการสั่งแทนให้ได้นะครับ พวกนี้เขาจะมีประสบการณ์สูงอยากได้เล่มไหนเป็นพิเศษก็เข้าไปค้นในเว็บไซต์ขายหนังสือดังๆ แล้วบอกให้ร้านสั่งแทนให้ อาจโดนคิดค่าบริการเล็กน้อย แต่ก็สบายใจกว่ากันเยอะ แม้จะมีข้อจำกัดว่าสำนักพิมพ์นั้นต้องเป็นตัวแทนของเขาด้วยเช่นกัน

ส่วนตัวผมเองมีปัญหาการสั่งซื้อโน้ตเพลงของทางญี่ปุ่นอย่างมาก เพื่อนฝูงที่ไปเที่ยวที่นั่นผมฝากซื้อโน้ตเพลง โหลดหน้าปกไปให้ดู แต่ทุกรายไปร้านหนังสือแล้วไม่มีใครหาหนังสือที่ผมต้องการได้ สุดท้ายก็ต้องใช้บริการสั่งผ่านเว็บ Rakuten ซึ่งเป็นเว็บอีคอมเมิร์ชรายใหญ่ของที่นั่น และให้ไปส่งยังสถานที่ในญี่ปุ่น ก่อนที่จะให้เพื่อนไปรับยังจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ แล้วค่อยหิ้วเข้ามาในเมืองไทย ดูยุ่งยากสลับซับซ้อนน่าดู

เรื่องหนังสือและโน้ตเพลงเป็นเรื่องของการลงทุนอย่างหนึ่งนะครับ อย่าละเลยหรือมองข้ามเป็นอันขาด
เพราะถ้าลูกคุณจะเอาดีทางนี้การมีหนังสือพวกนี้อยู่ในมือจะเป็นเหมือนเครื่องมือให้เขาได้หยิบใช้งานได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโชว์ การสอน หรือแม้กระทั่งการศึกษา ตำราเหล่านี้จึงห้ามหาย ต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี

สรุปในเรื่องตำราเรียนทั้งในและนอกเวลา ถือว่ามีความสำคัญมาก เป็นต้นทุนที่เราต้องจ่าย และจะเป็นเครื่องมือชั้นดีให้กับลูกๆ ของเราในอนาคต ผู้ปกครองทั้งหลายควรจะศึกษาแหล่งซื้อเอาไว้ให้ดี เพราะเครื่องดนตรีแต่ละชนิดก็มีแหล่งซื้อที่แตกต่างกันไป

ทางที่ดีควรวางแผนเรื่องการแบ่งปันตำราเหล่านี้กันในอนาคต ก็จะถือว่าช่วยเหลือพวกเรากันเองได้อีกเยอะ

สุดท้ายก็คือ ผมขอเรียกร้องให้ค่ายเพลงในเมืองไทย เอาโน้ตเพลงของศิลปินในค่ายพิมพ์ออกขายอย่างเป็นทางการเสียที และควรเป็นโน้ตเพลงที่ทำกันเป็นเรื่องเป็นราว จริงจัง ไม่ใช่ให้คนภายนอกมาแกะเพลงให้ หรือขายเพียงเนื้อร้องกับคอร์ดธรรมดา ถือว่าเป็นวิทยาทาน และน่าจะเป็นช่องทางการทำธุรกิจต่อไปในอนาคตได้

ส่วนคนที่เดินร้านหนังสือของคนไทยบ่อยๆ จะมีชั้นวางหนังสือดนตรีอยู่ หากลูกคนเรียนดนตรีแบบเรียนโน้ตเป็นเรื่องเป็นราว

ผมไม่แนะนำให้ซื้อหนังสือคู่มือการเล่นดนตรีชิ้นนั้นๆ ที่มักมีซองพลาสติกหุ้มอยู่นะครับ เพราะหนังสือพวกนี้จะเหมาะกับคนที่ไม่ได้เรียนเป็นจริงเป็นจังมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่ทุกเล่มนะครับ หลายเล่มก็ดีทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งคือ ผู้ปกครองเองก็ต้องไล่ตามให้ทันเทคโนโลยี เพราะเดี๋ยวนี้มีโน้ตเพลงออนไลน์ที่แชร์กันว่อนในเน็ต

ดังนั้นหูตาเหล่านี้พวกเราต้องกว้างไกล ได้ไฟล์มาแล้วบางครั้งไม่จำเป็นต้องพิมพ์เพราะเราสามารถเปิดดูได้จากเครื่องแท็บเล็ตได้เลย พกพาสะดวก ไม่ต้องพกกันเป็นกระเป๋า เป็นแฟ้มเหมือนเมือ่ก่อน

แต่ยังไงแล้วโน้ตเพลงที่มีลิขสิทธิ์ก็อย่าไปละเมิดกันหละครับ ขอร้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น