
อย่างที่รู้ที่นั่นเขาเรียนดนตรีกันเป็นเรื่องจริงจัง โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป
ความที่เรียนกันแบบนั้นทำให้การเรียนดนตรีของเขามีแบบมีแผน และบอกตรงๆ ว่าครูค่อนข้างดุ และเข้มงวดมาก
และจากประสบการณ์นี้ทำให้เด็กหลายคนมีปมกับการเรียนดนตรี เกิดการหวาดระแวงทุกครั้งที่เล่นผิด กลัวถูกครูทำโทษบ้าง หรือต้องทำตามที่ครูสั่งโดยไม่มีข้อแม้ ทั้งที่ดนตรีมันเป็นเรื่องของจินตนาการ
แต่สำหรับครูในเมืองไทยผมไม่ค่อยเห็นแบบนี้สักเท่าไหร่ ถึงวันนี้น่าจะหมดยุคพ่อครูแม่ครู ที่เราต้องเอาเด็กไปฝากฝังเพื่อจะได้เล่าเรียนดนตรีอย่างจริงจังแล้ว
คงเป็นเรื่องของพ่อแม่ที่ต้องไปหาสถาบัน หรือครูมาสอนเป็นการส่วนตัว ซึ่งเราสามารถเลือกทุกอย่างได้ ถ้ามีเงิน
แต่ช้าก่อน การมีเงินก็ไม่ได้ช่วยให้ลูกคุณประสบความสำเร็จแต่อย่างใด
จากประสบการณ์ของผม ผมขอย้ำว่า นักดนตรีอาชีพที่เก่งๆ บนเวที อาจจะไม่ใช่ครูที่สอนดนตรีให้เด็กเล็กๆ ได้ดี
และครูที่สอนดนตรีให้กับเด็กเล็กได้ อาจจะไม่ใช่ครูที่ต้องเป็นนักดนตรีอาชีพ หรือมีชื่อเสียงมาก่อน
ถ้าเลือกโรงเรียนสอนดนตรีเป็นที่แรกให้ลูก ผมแนะนำว่า ให้ดูผู้อำนวยการโรงเรียน หรือ เจ้าของโรงเรียนนั่นเอง
วันแรกที่ไปเดินดูสถานที่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเจอเบอร์หนึ่งของสถานที่นั้นก่อน ควรมีเวลาพูดคุยและแลกเปลี่ยนทัศนคติ
ว่าเขาเน้นให้ลูกเราเป็นอย่างไร มีกลเม็ดการสอนหรือเป้าหมายตรงกันกับเราหรือไม่
ที่สำคัญคุยกับเรารู้เรื่องหรือเปล่า หรือเพียงแค่หวังจะเอาเงินเราอย่างเดียว เรื่องนี้บอกตรงๆ ครับว่าดูออกไม่ยาก
แนะนำต่อเลยครับว่าอย่าคุยกับแค่ธุระการด้านหน้า คุณจะไม่ได้อะไรเลย
ผู้อำนวยการโรงเรียนนี่แหละครับสำคัญ แม้เขาจะไม่ได้มาสอนลูกเรา แต่หน้าที่หลักเขาคือ วางแผนหลักสูตรการสอน และเป็นคนคัดเลือกครูมาสอน เป็นคนจ่ายเงินเดือนครู
ผมบอกได้เลยว่าครูที่ดีๆ เก่งๆ จะมาสอนที่โรงเรียนนั้นๆ หรือไม่ ขึ้นกับคอนเนคชั่นของผู้อำนวยการนี่แหละครับ
ประเภทขี้เหนียว เน้นการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว อย่าหวังว่าจะมีครูดีๆ มาสอนลูกคุณเลยครับ
ดังนั้นเราต้องมองให้ออกตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้คุยครับ
ที่สำคัญนอกจากเจ้าของหรือผู้อำนวยการต้องเก่งด้านดนตรีแล้ว ยังต้องจบทางด้านบริหารจัดการด้านการศึกษามาด้วยนะครับ
ที่เน้นตรงนี้เพราะว่า สมัยนี้โรงเรียนดนตรีเปิดสอนเป็นดอกเห็ดเหมือนกัน แต่การให้ใบอนุญาตเป็นโรงเรียนจากกระทรวงศึกษานั้นยากมากครับ
โรงเรียนหลายทีเปิดให้บริการก่อนได้ใบอนุญาต ทำมาทำไปพอเห็นว่าไม่ได้ใบอนุญาตแน่ปิดกิจการหนีไปเลยก็มี
การบริหารการศึกษาจากผู้อำนวยการที่เก่ง เขาจะช่วยวางโปรแกรมการสอน วิเคราะห์แนวทาง และวางจังหวะการเดินให้นักเรียนแต่ละคนได้ พร้อมกับอุดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งให้ไปด้วยในตัว เอาแค่ครูดนตรีที่สอนอย่างเดียว แม้จะเล่นเก่ง แต่วางแผนการสอนไม่เก่งนี่มีเยอะนะครับ
นอกจากการบริหารเรื่องการเรียนเก่งแล้ว ถ้าได้ผู้อำนวยการที่บริหารการเงิน บริหารคอนเนคชัน และคิดค้นกิจกรรมใหม่ๆ รวมถึงสร้างเครื่องไม้เครื่องมือการสอนใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ก็เยี่ยมไปเลย แต่จะหาได้เยอะขนาดนี้อาจต้องเฟ้นกันหน่อยนะครับ
ดังนั้นเสียเวลาคุยซักไซร้เพื่อเลือกที่เรียนดนตรีที่แรกให้ลูกจึงสำคัญมาก
คราวนี้มาถึงตัวครูแล้วครับ ครูคนแรกของลูกเราเลือกง่ายๆ ครับ คือหาเคมีที่เข้ากันให้ได้
เรื่องนี้ผู้ปกครองต้องรู้ก่อนว่าลูกเราเป็นอย่างไรด้วยนะครับ
ผมมีตัวอย่างลูกผมมาเล่าให้ฟังครับ ลูกสาวผมเป็นประเภทคุ้นกับคนยาก เวลาเรียนดนตรีครูถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบ บอกให้เล่นก็เล่นอย่างเดียวพูดน้อยมาก มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีการเปลี่ยนครูเข้ามา เพราะเพลงนี้ครูคนนี้เก่งมาก และเป็นครูผู้ชายเสียด้วย
เธอยิ่งไม่คุ้นเพราะเรียนกับครูผู้หญิงมาแต่เริ่ม วันนั้นทั้งชั่วโมงทั้งครูกับลูกศิษย์แทบไม่พูดกันเลย
เพราะครูผู้ชายแกไม่ค่อยพูดเหมือนกัน ออกมาแนวนิ่งๆ หลังเลิกเรียนผมเข้าไปถามความเห็นลูก เธอบอกมันกดดันเกินไป และสื่อสารกันไม่ได้
ผมเลยต้องส่งสัญญาณไปยังเจ้าของโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาด่วน
นี่แหละครับ เรื่องการเข้ากันทางเคมีมันมีผลต่อการเรียนอย่างมาก
อย่างไรก็ตามผมต้องขอบอกตรงนี้เลยนะครับว่า ครูที่สอนเด็กเล็กกับสอนเด็กโต ไม่จำเป็นต้องเป็นคนคนเดียวกัน
เพราะความถนัดและการใช้แทคติคจะคนละอย่างกัน และครูที่เด็กเติบโตมาพร้อมกับครู จะมีความเคารพยำเกรงแตกต่างจากครูที่สอนตอนโตนะครับ
มันก็เหมือนกับครูโรงเรียนอนุบาล ครูโรงเรียนประถม และครูโรงเรียนมัธยม มันให้ความรู้สึกกับนักเรียนที่แตกต่างกันนั่นเอง
ดังนั้นการนั่งคุยในวันแรกคงต้องเจอทั้งเจ้าของโรงเรียน ท่าจะให้ดีก็ต้องเจอครูที่จะสอนด้วย เราคงต้องสังเกตุครูให้ดีต้งแต่เริ่ม
จากนั้นขออนุญาตไปสังเกตุตอนสอนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ครูหลายคนไม่ชอบให้ผู้ปกครองไปนั่งดูตอนสอนในห้อง แต่ครูหลายคนก็ยินดี
ต้องลองแลกเปลี่ยนแนวทางกัน ที่สำคัญต้องถามลูกของเรานี่แหละครับว่าโอเคกับครูหรือเปล่า อย่าปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง
ไม่อย่างนั้นคุณอาจเจอปัญหาที่ว่า “เพลงนี้เพลงเดียวกว่าจะได้ชั้นหมดเงินไปหลายหมื่น”
คราวนี้ถ้าเราไม่อยากให้ลูกไปเรียนดนตรีตามโรงเรียนต่างๆ หละจะทำอย่างไร ไม่ยากครับ
ก่อนอื่นคุณเองเล่นดนตรีเป็นหรือเปล่า? ถ้าเป็นและเคยผ่านระบบการเรียนมาแล้ว อันนี้สบายเลย
มีเครื่องดนตรีอยู่ที่บ้าน เราก็ไปซื้อหนังสือเรียนมาสอน ทำตัวเองเป็นครูคนแรกไปเลย ดีออก ไม่เปลืองเงิน แถมยังได้ใกล้ชิดลูกอีกด้วย
แต่จะมีสักกี่คนที่เป็นทั้งพ่อแม่ และเป็นครูของลูกไปด้วยในตัว แต่ถ้าเป็นครูไม่ได้ หรือไม่มีความรู้ทางด้านดนตรีมาก่อน ก็อาจจะจ้างครูมาสอนที่บ้านซะเลย
ในกรณีจ้างครูมาสอนที่บ้าน หากเป็นครูคนแรกส่วนตัวเองผมไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่ (แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้)
สาเหตุก็เพราะ ครูคนนั้นแม้จะมีความรู้ทางด้านดนตรี แต่สิ่งที่ขาดไปก็คือ การเป็นคนที่วางแผนการศึกษาให้ลูกเรา
การวิเคราะห์หาทางออกในด้านต่างๆ รวมถึงการขาดกิจกรรมเสริม ที่สำคัญการมาสอนที่บ้านมักจะต้องจ่ายค่าตัวครูแพงกว่าไปเรียนที่โรงเรียน
ผมจะสนับสนุนหากลุกของคุณเรียนดนตรีมาระยะหนึ่ง และมีความต้องการแตกแขนงลงลึกไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
เช่น เด็กส่วนใหญ่เริ่มต้นจะเรียนป๊อปและคลาสสิค แต่เรียนสักพักเห็นว่าตนเองชอบแจ็ส หรือบลู มากกว่า
ก็เป็นไปได้ที่จะหาครูที่เก่งด้านนั้นๆ มาสอนที่บ้าน เพราะพอลงลึกอย่างนี้จะหาครูที่สอนตามโรงเรียนยากแล้ว
บทสรุปของเรื่องครูคนแรกและโรงเรียนดนตรีที่แรกของลูกเรา ผมแนะนำเลยครับ ผู้ปกครองอย่างเราต้องยอมลำบากหน่อย
ต้องแล้วแต่โชคชะตาจริงๆ คือเราต้องเดินเข้าหาไปเจอผู้บริหาร และครูคนนั้นด้วยตนเอง ได้นั่งคุยแลกเปลี่ยนจนหนำใจ
อย่าได้หลงใหลไปกับแบรนด์ดังตามห้างอย่างเดียวเป็นอันขาด
ไม่แน่ว่าโรงเรียนดนตรีหน้าปากซอยหมู่บ้านคุณอาจเป็นโรงเรียนที่เหมาะกับลูกคุณมากที่สุดก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น