วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สอบเข้าโรงเรียนสาธิต ด้วยความสามารถพิเศษด้านดนตรี ต้องเจออะไรบ้าง???



          ผมหายไปจาการเขียนบล็อกเรื่องดนตรีเกือบปีครับ สาเหตุหลักก็คือ น้องเพลินลูกสาวของผมก้าวเข้าสู่ป.6 จำเป็นต้องหาโรงเรียนสอบเข้าใหม่ งานวิชาการเลยต้องมา งานดนตรีเลยต้องพับไปก่อน อารมณ์อินเขียนดนตรีของผมเลยหายไป ถ้าเขียนเรื่องพาลูกไปติววิชาการคงจะไม่ใช่แนว
          ช่วงปีครึ่งของการเน้นวิชาการ การเรียนดนตรีของน้องเพลินต้องเรียกว่า Maintain หรือแค่ประคอง เพราะโจทย์ทางด้านวิชาการมันยากเหลือเกิน ข้อสอบและคู่แข่งมันกินแรงเด็กป.6 ที่ไม่เคยเตรียมตัวมาก่อนจริงๆ เพราะถ้าจะเอาจริงต้องเรียนกันตั้งแต่ ป.4
          ช่วงระหว่างนั้นการวางแผนและการเลือกโรงเรียนมันมีรายละเอียดอย่างมาก ที่บอกว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนสอบตรงกันนั้น ไม่จริงครับ มีหลายโรงเรียนสอบไม่ตรงกับที่อื่นๆ โดยเฉพาะโรงเรียนสาธิต
          และโรงเรียนสาธิตเดียวที่ประกาศรับนักเรียนความสามารถพิเศษ นั่นคือ สาธิตประสานมิตร โรงเรียนสาธิตชื่อดังที่ใครๆ ก็อยากไปเรียน ซึ่งต่อแต่นี้ไปผมจะพูดถึงการสอบเข้าด้วยดนตรีของโรงเรียนนี้เท่านั้น โรงเรียนอื่นผมไม่มีประสบการณ์จริงๆ

เงื่อนไขและคุณสมบัติ
          โควตาที่รับนั้นมีแค่ 10 ที่นั่ง แต่ถ้าถามผมว่าเยอะหรือเปล่า ต้องบอกว่าใช่ได้เลย เพราะยอดรับม.1 ของโรงเรียนเพียงแค่ 100 ที่นั่งโดยประมาณ ขณะที่จำนวนเด็กที่สอบปกติจะประมาณหลักสองพันขึ้นไป หรือจะบอกว่าหนึ่งต่อยี่สิบนั่นเอง
          ตอนแรกที่นั่งคำนวณกับน้องเพลินเรายังคิดกันว่าคนสมัครสอบน่าไม่จะมาก แต่วันที่สอบดนตรีจริงๆ เราพบว่ามีผู้สมัครสอบถึง 43 คน ถือว่าแข่งขันกันสูงทีเดียว เพราะอัตราหนึ่งต่อสี่นี่มันก็โหดร้ายเหมือนกัน แต่เงื่อนไขไม่ได้จบแค่นั้น นั่นคือคนสมัครต้องสอบข้อเขียนด้วย
          ผมอาจเล่าข้ามไปข้ามมา ทนอ่านนิดนึงนะครับ นั่นคือ ปีนี้สาธิตประสานมิตรมาแปลกมาก เพราะปกติจะสอบจริงวันที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ เด็กเก่งทั่วประเทศจะมาลุยเวทีนี้กันหมด แต่ปีนี้กำหนดวันชนกัน นั่นทำให้เด็กต้องเลือกว่าจะมาหรือเปล่า เด็กที่จะสอบโรงเรียนใหญ่ๆ ที่อื่นๆ และเป็นเด็กเก่งๆ อาจไม่มาที่นี่ แต่ขณะเดียวกันถ้าเด็กที่เรียนดนตรีแต่มีทางเลือกโรงเรียนอยู่แล้ว กลายเป็นเรื่องคิดหนักเลยครับ
          น้องเพลินก็อยู่ในอาการนี้เหมือนกัน เพราะมาสอบดนตรีได้ แต่มาสอบข้อเขียนไม่ได้ จะเอายังไงดี ยอมเสียเงินสอบมั๊ย เนื่องจากค่าสอบแพงเลยนะครับ สมัครสอบธรรมดาหลักร้อย สมัครสอบดนตรีนี่ 2,000 บาท เอาเรื่องเหมือนกันนะครับ
          สุดท้ายสองพ่อลูกตัดสินใจว่าจะไปลองสอบดนตรี แต่ไม่ไปสอบข้อเขียน เรียกว่ายอมเสียเงินฟรีๆ เพราะรู้อยู่แล้วว่ายังไงก็สอบไม่ติด
          คำถามก็คือ เขาจะสอบอะไร ในเว็บไซต์ที่สมัครบอกว่า รับเครื่องสายกับเครื่องเป่า ไม่บอกอะไรมากกว่านี้ ไวโอลิน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส อันนี้แน่นอน แต่ว่า กีตาร์ อูคูเลเล่ เปียโน เอามั๊ย ไม่มีใครตอบ ส่วนเครื่องเป่าไม่ต้องห่วง เพราะขลุ่ยไทยไปรวมกับหมวดดนตรีไทยแล้ว
          ถามว่าน้องเพลินมั่นใจสุดนี่อะไร ก็เปียโน แต่เปียโนเขาจะรับมั๊ย ไม่รู้ กีตาร์น้องเพลินทิ้งมาพักนึงแล้ว อูคูเลเล่เก่งจริง แต่เขาจะยอมรับรึเปล่า เหลือแต่ไวโอลินแล้วครับ สุดท้ายเราเลือกไวโอลินที่เพิ่งเรียน ถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นแย่ที่สุดของเรา แต่ก็ลองดู
          เมื่อเลือกไวโอลินแล้ว คำถามต่อไปก็คือ เขาจะคัดเด็กระดับไหนกัน ผมเองแอบไปสืบวงในมาได้ความว่า ถ้าเล่นในระดับ Suzuki เล่ม 3-4 ได้ถือว่าโอเค โห โจทย์ยากเลยครับ น้องเพลินเล่นไวโอลินหนึ่งปีไม่มีทางถึงแน่นอน ทำไงหละครับ ไม่เป็นไร เอาเท่าที่ได้ ใจพวกเราคิดอย่างนั้น ทำให้ดีที่สุดของเราก็แล้วกัน
          ที่นี่เขาแปลกเพราะล้ำกว่าคนอื่น สมัครสอบผ่านทางเน็ต จ่ายเงินผ่านทางแบงค์ พอวันสมัครมีติววิชาการให้เด็กแถมด้วย แต่น้องเพลินไม่ได้ไปเพราะติดสอบอีกที่หนึ่งอยู่ แล้วที่นี่ไม่แคร์ว่าเด็กต้องมาสมัคร มายื่นเอกสารแล้วก็บอกว่าให้มาสอบดนตรีที่ตึกไหนในวันรุ่งขึ้น ตามที่แจ้งไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว เรียกได้ว่ามาเข้าคิวเอาวันสอบเลย
          ผมสรุปตรงนี้ก่อนว่า ค่าสมัคร 2,000 บาท สู้ไหวไม่กลัวเปลืองเงินก็เอา สอบดนตรีก่อนข้อเขียน แต่ต้องสอบข้อเขียนด้วยนะ ดนตรีสากลต้องเลือกเครื่องสายหรือเครื่องเป่า และรับเพียง 10 คนเท่านั้น

ประสบการณ์วันสอบ
          บรรยากาศวันสอบมันส์และกดดันน่าดูเลยครับ จะมีโต๊ะให้เด็กลงทะเบียนพร้อมรับบัตรคิวล่วงหน้า ในช่องลงทะเบียนเด็กต้องบอกว่าเลยว่าจะใช้เครื่องดนตรีอะไรสอบ เรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เวลาเข้าสอบเข้าทีละ 5 คิว เด็กขึ้นไปสอบผู้ปกครองรออยู่ข้างล่าง
          เริ่มสอบตอน 9 โมงเช้า เด็กมากันก่อนแปดโมงเช้าเยอะเลย เด็กก็หลากหลายมากวันนั้น เพราะจะมีทั้งเด็กความสามารถพิเศษกีฬา เด็กโขน เด็กดนตรีไทยและนาฏศิลป์
          พวกดนตรีสากลนี่น่ากลัวสุด โดยเฉพาะพวกเครื่องเป่า เพราะบรรยากาศก่อนเข้าห้องสอบ ที่เด็กกองรวมกันนี่เด็กเครื่องเป่าพองัดอุปกรณ์ของตนเองมาซ้อมมือซ้อมปอดของตัวเอง เสียงมันดังกลบเสียงซ้อมคนอื่นเขาหมด มีทั้งแซกโซโฟนขนาดต่างๆ ฟรุต ทรัมโบน และเครื่องเป่าแปลกๆ มาหมด เข้าใจว่าพวกนี้มาจากวงโยธาวาทิตของโรงเรียนเดิม
          เท่าที่ผมสังเกตเอานะครับ เด็กที่มาสอบดนตรีสากลทั้งหมด ผมยืนยันว่าทั้งหมด มาจากโรงเรียนเอกชนทั้งสิ้น อาจเป็นเพราะค่าเรียนดนตรีมันแพง มันต้องเรียนต่อเนื่องนานๆ จึงเห็นผล ผู้ปกครองต้องมีเวลาไปรับไปส่งลูก และที่สำคัญเด็กจะสอบเข้าสาธิตประสานมิตรมันต้องมีฐานะครอบครัวระดับนึง อีกทั้งไม่มีปัญหาเรื่องการเรียนต่อม.1 เพราะถ้าสอบไม่ติดข้อเขียน โอกาสจะเข้าที่อื่นก็ยากเพราะมันสอบตรงกัน
          บอกได้เลยครับ เด็กที่มามีหลายเกรดจริงๆ พวกที่เก่งอย่างไวโอลินนี่ เก่งจริงเลยครับ พวกกีตาร์มีคลาสสิคกระเด็นมาคนเดียว กีตาร์ไฟฟ้าก็มีครับ เปียโนเห็นมีคนเดียว เด็กน้อยอูคูเลเล่ก็มีครับ แต่ดูเหมือนตอนที่ซ้อมกับแม่จะเล่นแค่ตีคอร์ดร้องเพลง ถ้าแค่นี้ติดนี่ผมจะกราบเลยครับ
          หลังจากวอร์มอัพกันแล้ว ได้เวลาเรียกตัวแล้วครับ ที่นี่จะเรียกไปครั้งละ 5 คน ไม่ให้ผู้ปกครองตามไปดูนะครับ เพราะผู้ปกครองนี่ตัวยุ่งเลย เด็กมันไม่แกร่งเพราะมีพ่อแม่แหง่นี่แหละครับ ทีแรกผมกับลูกก็เถียงกันว่า เขาน่าจะมีห้าห้อง เข้าไปพร้อมกันแต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้นครับ ปรากฏว่าห้องสองมีห้องเดียว เด็กขึ้นไปพร้อมกันก็ต้องไปนั่งรอตามคิว
          ตอนสอบในห้องจะมีครูอยู่ 5 คน แล้วก็มีรุ่นพี่อีก 5 คน รวมแล้วเป็น 10 คนเลยครับ แบบว่าเด็กที่ไม่คุ้นกับการเล่นหน้าคนเยอะๆ แบบมีคนนั่งจ้องยืนจ้อง รับรองสั่นเป็นเจ้าเข้าเล่นไม่ออกแน่ ถ้าให้ดีก็ซ้อมแบบมีคนดูซะหน่อยก็ดีนะครับ
          เวลาสอบกรรมการจะขอดูเพลงเดียวครับ ไม่ต้องซ้อมไปเยอะ เอาเพลงเดียวของเราให้ขึ้นใจเล่นให้คล่อง ส่วนผมเองไม่รู้กติกามาก่อน ก็ให้ซ้อมไปหลายเพลงหลากหลาย แต่ไม่คล่องซักเพลง พอขึ้นเวทีเลือกเล่นเพลงยากสุด ตะกุกตะกัก แบบว่าน้องเพลินรู้เลยว่าตัวเองไม่รอด
          พอเล่นจบเพลง ก็จะเป็นการ site reading หรือการอ่านโน้ตแบบฉับพลัน ตัวโน้ตก็สุดยอดมาก เข้าใจว่าเป็นโน้ตจริงที่ในวงโรงเรียนปัจจุบันเขาซ้อมกันอยู่ เพราะกระดาษโน้ตจะมีจุดแก้ไขโดยลายมือ แบบว่ามืออ่านโน้ตตัวแม่อย่างน้องเพลินถึงกับงง ว่าไอ้ที่เขียนนี่มันอะไรกันแน่
          ต่อจากนั้นก็มีการซักประวัติการเรียน การเล่นดนตรี เช็คโปรไฟล์ เราเองควรจัดโปรไฟล์ดนตรีลูกให้ชัดเจนก่อนไปสอบกันนะครับ เพราะอันนี้มีผลเลยทีเดียว
          สรุปตอนจบเลยนะครับ 1.เตรียมโปรไฟล์ดนตรีตัวเองให้พร้อม 2.เลือกเครื่องดนตรีได้เต็มที่ เลือกแล้วเล่น 1 เพลง เอาให้เจ๋ง 3.เตรียมเรื่องการเล่นแบบอัตโนมัติให้ดี โน้ตเพลงเป็นระดับกลางๆ 4.เตรียมเรื่องการเล่นให้กับคนเยอะๆ ดูไว้ด้วย จะได้ไม่ตื่นเต้น 5.ไปก่อนได้เปรียบ ลงทะเบียนรับคิวต้นๆ จะเยี่ยมมาก ขอให้ทุกคนโชคดีในการสอบปีต่อไปครับ