วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

ซื้อ Ukulele ให้ลูกไปเรียนแบบไหนดี




โดย พ่อน้องเพลิน

เมื่อลูกบอกว่าจะเรียนอูคูเลเล่ หรือ อุ๊ค พ่อแม่มักจะถามว่าจะเอาจริงมั๊ยลูก ความคิดแวบแรกอาจจะไม่คิดว่า ถ้าเรียนอุ๊คมันคงไม่เหมือนเรียนเปียโน กีตาร์ ไวโอลิน ฯลฯ เพราะความรู้สึกของคนส่วนใหญ่จะคิดว่า อุ๊ค เป็นเรื่องของความสบาย เล่นแบบเล่นเล่น อย่าไปซีเรียส และ “มันต้องเรียนด้วยหรือ???”

ที่ผมเจอจะมีสองกรณีสำหรับคนที่หลงลมลูกที่บอกว่าจะเรียนอุ๊ค นั่นคือ พาไปเรียนเลยแล้วหาซื้ออุ๊คให้ทีหลัง กับสองซื้ออุ๊คให้ลองก่อนแล้วค่อยพาไปเรียน จะแบบไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่ากัน

แต่ตรงนี้ผมขอเขียนสำหรับคนที่จริงจังนะครับ คือมั่นใจว่าจะต้องพาลูกไปเรียนอุ๊คแน่ และผลสุดท้ายคือต้องซื้ออุ๊คให้กับลูกหละ

คำถามที่ผมเจอบ่อยที่สุดคือ จะซื้ออุ๊คแบบไหนให้กับลูกดี??? เดินไปซื้ออุ๊คที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ราคาไม่กี่พันบาท บางทีเห็นในร้านหนังสือยังมีขายเลย

หลายครอบครัวไม่มั่นใจลูก จะซื้ออุ๊คราคาถูก ซื้ออุ๊คที่ขายกันในท้องตลาดทั่วไป เพราะตัวเองก็ไม่มีความรู้ ถ้าท่านกำลังเป็นเช่นนี้ กรุณาหยุดก่อน มาหาความรู้กันก่อนดีกว่า

อุ๊คมันก็เหมือนกับเครื่องดนตรีทั่วไป มีเลวมีดี ยิ่งราคาแพงก็ยิ่งเสียงดี มีเอกลักษณ์

อุ๊คถูกๆ ส่วนใหญ่ใช้วัสดุชั้นเลว ซึ่งประกอบด้วย ตัวอุ๊คที่ทำจากไม้อัด ซึ่งจะทำให้เสียงอู้อี้ไม่ไพเราะ ใช้สายเอ็นที่ไม่มีคุณภาพ เล่นยังไงก็เสียงไม่ใส ระบบเสียงข้างในไม่มีองค์ความรู้ประกอบ จัดวางเบรซซิ่งแบบมั่วๆ คอก็ทำจากไม้อัดทำให้การสั่นสะเทือนของเสียงไม่ดี แถมเล่นๆ ไปมีบาดมือด้วย ตัวปรับเสียงก็คุณภาพแย่ เล่นไปปรับไป เสียงไม่มาตรฐานซักที แน่นอนของเหล่านี้ถ้าจะให้ดีราคาก็จะแพงไปด้วย

คำถามคือ ถ้าดูไม่เป็น ไม่เคยรู้ว่าจะต้องดูอะไรบ้าง ควรจะทำอย่างไร เอาง่ายๆ เลยครับ ให้เลือกที่แบรนด์ หรือยี่ห้อ

อุ๊คนั้นถือเป็นเครื่องดนตรีประจำเก่าฮาวาย ที่นี่มีทั้งวัสดุอุปกรณ์ชั้นเลิศ และฝีมือช่างชั้นดีในการทำให้อุ๊คเสียงออกมาใสสบายเหมือนนอนเล่นอยู่ริมชายหาด แบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกของอุ๊คอยู่ที่นั่น แต่ไม่ใช่ว่าอุ๊คที่มาจากโรงงานที่ฮาวายจะเสียงดีกันทุกตัว

สี่แบรนด์ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับจากตลาดทั่วโลก นั้นมาจากฮาวาย เริ่มจาก Kamaka แบรนด์เก่าแก่ ที่มีไสตล์เสียงที่เป็นแบบวินเทจ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เอาเป็นว่าเพลงที่เล่นจากอุ๊คยี่ห้อนี้ยากต่อการ เลียนแบบจากยี่ห้ออื่น ตัวอย่างเช่น เพลงของ Jake Shimabukuro ศิลปินอุ๊คชื่อดังระดับโลก เล่นเพลงของเขาด้วยอุ๊คของ Kamaka กลายเป็นเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ยากต่อการเลียนแบบจริงๆ ราคาของอุ๊คยี่ห้อนี้ไม่ต้องห่วงเลยครับ เริ่มที่สามหมื่นกว่าบาทปลายๆ และของไม่ใช่หาง่ายๆ บางทีต้องรอกันเป็นปีเลยทีเดียว

แบรนด์ที่สองคือ  Kanile`a อ่านว่าคานิเลีย แบรนด์นี้เกิดหลังคามาค่า แต่พิถีพิถันทำอุ๊คซะเหลือเกิน อุ๊คที่ออกมาขายจึงสวยเช้งถูกตามถูกใจนักสะสมอย่างมาก เสียงที่ออกมาใส นุ่ม เหมือนฟังจากกีตาร์คลาสสิคชั้นดี

แบรนด์ที่สามคือ KoAloha เป็นแบรนด์ที่สร้างอุ๊คให้ดูเรียบง่ายที่สุด แต่เสียงกลับพุ่งที่สุด ราคาของแบรนด์นี้เทียบกับสี่แบรนด์ใหญ่ถือว่าเป็นราคาที่จับต้องได้ น่าสนใจมากในเมืองไทย

แบรนด์ที่สี่คือ KoAlou อ่านว่าโคอะลัว ในกระบวนการแบรนด์ทั้งหมดแบรนด์นี้ผลิตสินค้าราคาแพงที่สุด เมื่อเทียบกันตัวต่อตัว ผมเองไปร้านที่วางขายแบรนด์นี้อยู่ไปทีไรก็แค่จับ ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้เป็นเจ้า ของสักครั้ง เสียงอุ๊คของแบรนด์นี้แตกต่างจากอีกสามแบรนด์นั่นคือ สามแบรนด์แรกฟังยังไงก็มีความรู้สึกถึงทะเลเป็นหลัก แต่โคอะลัวนั้นเสียงจะทุ้มกว่า ฟังไปฟังมาเสียงเหมือนอยู่ในภูเขาซะงั้น

อย่างที่บอกว่าถ้าเล่นของดี มีแบรนด์การันตี ราคาเริ่มต้นก็หมื่นปลายเป็นต้นไป เรื่อยไปจนถึงเป็นแสน เพราะนอกจากจะมีองค์ความรู้การผลิตที่ดี ช่างที่มีความสามารถ โรงงานที่มีเครื่องมือคุณภาพ ใช้ไม้ Koa หรือ โคอะ ที่ปกติจะขึ้นอยู่บนดินภูเขาไฟเท่านั้น และฮาวายคือที่ปลูกไม้ชนิดนี้ได้ดีที่สุด โรงงานพวกนี้จะเลือกไม้คุณภาพดี สวย เก็บอบแห่งอย่างยาวนาน ทำให้เมื่อนำมาผลิตเสียงจะอยู่ตัว แทบจะตั้งเสียงน้อยมาก

ที่สำคัญอย่างที่บอก โรงงานพวกนี้จะทำงานแบบครอบครัว พนักงานในโรงงานคือลูก หรือลูกศิษย์ไม่กี่คน ความสามารถในการผลิตปีหนึ่งๆ ไม่เกินพันตัว ที่สำคัญคือส่งขายทั่วโลก ดังนั้นไม่แปลกที่ในไทยจะหาซื้ออุ๊คพวกนี้จากร้านขายได้เพียงไม่กี่ร้าน ที่เห็นก็มีเพียงสองร้านสำคัญๆ เท่านั้น

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจไม่สู้ครับ คือมองว่าราคามันแพงไป ลูกเราอาจดูแลของแพงไม่ได้ เรื่องแพงนี่เดี๋ยวว่ากันต่อ แต่เรื่องดูแลของไม่ได้อันนี้ผมเถียงใจขาด เพราะประสบการณ์จากลูกสาวผมที่มีอุ๊คราคาหลายหมื่นมาเล่นตั้งแต่ห้าหกขวบ เธอก็ดูแลอุ๊คหลายตัวนั้นอย่างดี ผมว่าถ้าเรามั่นใจเขานะครับ เขาก็จะมั่นใจตัวเองตามไปด้วย

คราวนี้มาว่ากันเรื่องแพง บอกตรงๆ ถ้าไม่รักจริง ราคาขนาดนี้ต้องถือว่าแพง แต่ถ้าคนที่คิดว่าจะมาทางนี้ ราคาพวกนี้ไม่น่าจะมีปัญหา และผมบอกตรงนี้เลยว่า ของพวกนี้ราคาไม่ตก วันไหนเบื่อมีคนอยากซื้อต่อ หมุนเปลี่ยนมือได้ง่ายๆ

เมื่อไม่เอาแบรนด์ใหญ่ จะสนแบรนด์เล็กแต่คุณภาพเจ๋งๆ มีไหม พอมีครับ ประการแรก ผมแนะนำให้ไปร้านอุ๊คที่ขายแบรนด์ใหญ่นั่นแหละครับ พวกนี้จะมีแบรนด์รองๆ ได้อุ๊คที่มาจากไม้แท้ และคุณภาพเสียงระดับปานกลาง ราคาประมาณ 6,000 ถึงหนึ่งหมื่น อันนี้ต้องบอกว่าปานกลางแล้วนะครับ ราคาต่ำกว่านี้ผมไม่แนะนำนะครับ

เมื่อได้แล้ว คราวนี้มาหาครูกันดีกว่าครับ ใครกันละที่จะสอนอุ๊คให้ลูกเราดี คราวหน้าผมจะมาบรรเลงต่อครับ

วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2557

บทเริ่มต้นของการพาลูกไปเรียนอูคูเลเล่



โดย พ่อน้องเพลิน

เครื่องดนตรีที่ถูกพูดถึงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาคือ Ukulele อ่านว่าอูคูเลเล่ ชื่อเล่นของมันคือ อุ๊ค ไม่น่าเชื่อว่าในช่วงปิดเทอมของลูกๆ โรงเรียนดนตรีทั้งหลายจะสามารถรับสมัครนักเรียนใหม่เพื่อมาเรียนเครื่องดนตรีชิ้นนี้เพิ่มมากขึ้นแบบไม่น่าเชื่อ

ผมมีประสบการณ์มาเล่าให้ฟังกันครับ ลูกสาวผมเรียนเปียโนตอน 5 ขวบ พอช่วง 7 ขวบเธอรู้สึกว่าอยากเล่นกีตาร์ขึ้นมา ผมเลยซื้อกีตาร์ทรงเดรดนอท กับทรงจัมโบ้ เพราะผมชอบไม่ใช่ลูกชอบ แน่นอนครับคนที่คุ้นเคยกับกีตาร์จะรู้ว่าเจ้าสองทรงนี้มันค่อนข้างไปทางขนาดที่ใหญ่โต แม้ว่าลูกสาววัย 7 ขวบของผมจะโตใหญ่กว่าเด็กรุ่นเดียวกัน แต่เธอก็ไม่สามารถประคองโอบกีตาร์สองตัวของผมได้ ถือเป็นการเสียโอกาสสำหรับเธออย่างมาก

แน่นอนขณะนั้นอุ๊คกำลังเริ่มดัง ผมคิดในใจทันทีว่าอุ๊คน่าจะเหมาะกับลูกสาวผม ด้วยสรีระที่ไม่ใหญ่เกินไป และความที่มันเล่นง่ายในความคิดเห็นของผม จากการที่เล่นกีตาร์มาก่อน เชื่อได้ว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้น่าจะเป็นที่ถูกใจของลูกสาวผมแน่

ว่าแต่จะไปหาครูที่ไหนสอนหละครับ??? กลายเป็นเรื่องใหญ่ของผมในขณะนั้นไปเลยทีเดียว

สิ่งที่ยังเป็นอยู่ในตอนนั้นจนถึงตอนนี้ก็คือ ครูที่สอนอุ๊คทั้งหมดในเมืองไทย คือคนที่เรียนกีตาร์มา ไม่ใช่คนที่เรียนอุ๊คมาโดยตรง ไม่มีหลักสูตรสำหรับอุ๊ค ไม่มีการสอบ ไม่มีประกาศนียบัตร บอกได้เลยว่าไม่มีอะไรเป็นมาตรฐานสำหรับเครื่องดนตรีชิ้นนี้

เอาหละสิ ทำไงดีหละคราวนี้ ผมค่อยๆ เริ่มทำการศึกษามันอย่างจริงจัง เพราะคิดว่าถ้าจะเสียเงินทั้งที คงต้องจ่ายให้มันคุ้มค่าหน่อย

เริ่มจาก ตัวเครื่องดนตรีกันก่อนเลย อุ๊ค ใครว่าราคาไม่แพง ผมซื้อทีไรแพงทุกที

อุ๊คเป็นเครื่องดนตรีที่มีสเน่ห์ ขณะเดียวกันก็มีศาสตร์และศิลป์ในการทำเช่นเดียวกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ของถูกก็มี ของดีก็แพงครับ เป็นเหมือนกันทุกวงการ

พ่อแม่คนไหนที่จะซื้ออุ๊ค โดยเฉพาะให้เด็กตัวเล็ก อุ๊คตัวละพันสองพันมีขายครับ และขายดีมากด้วย ร้านหนังสือธรรมดาตามห้างยังมีเลยครับ แต่บอกตรงๆ จากประสบการณ์ผมไม่แนะนำครับ

อุ๊ค มี 4 ขนาด ตัวเล็กสุดคือ โซปราโน เสียงที่ได้จะเล็กตามไปด้วย แบบว่าเสียงสดใสเหมือนเด็กเลยครับ, คอนเสิร์ต เป็นไซต์ต่อมา จริงๆ ถ้าเปรียบเป็นแซกโซโฟน ตัวนี้ก็คือ อัลโต้ หละครับ ซึ่งไซต์นี้เป็นขนาดยอดนิยม ใช้ได้ตั้งแต่เด็กยันโต, เทอเนอร์ เป็นตัวขนาดใหญ่ ไม่เหมาะกับเด็กเล็กอย่างยิ่ง ไซต์นี้ส่วนใหญ่พวกมือโปรเขาจะใช้กัน แน่นอนฟิงเกอร์บอร์ดที่ยาวกว่า และเสียงที่เฟิร์มกว่าทำให้พวกมือโปรนิยม และสุดท้ายคือบาริโทน ตัวนี้นอกจากจะหาซื้อยากแล้ว ยังเล่นแตกต่างจากตัวอื่นๆ แต่ผมเคยฟังโปรเล่นแล้วมันสุดยอดมาก เอาเป็นว่าเจ้าตัวนี้อย่าไปแตะมันถ้าไม่จำเป็นก็แล้วกัน

สรุปในช่วงนี้ก่อนก็คือ ถ้าแนะนำว่าจะซื้ออุ๊คให้ลูกเรียน ถ้าคอนเสิร์ตไม่ใหญ่โตเกินไปสำหรับเด็ก ผมก็แนะนำ แต่ถ้าเด็กยังเล็กมาก โซปราโน คือคำตอบสุดท้ายครับ

คราวนี้ถามว่าไอ้ตัวถูกกับตัวแพงมันต่างกันยังไง ตอบได้เลยว่า เสียง

เสียงที่ออกมาเล่นโน้ตตัวเดียวกัน ผมเชื่อเลยว่าแม้เราจะไม่เป็นดนตรีเลยเราก็ฟังออกว่า เสียงมันแตกต่างกัน เราแยกแยะออกได้

ผมยังยืนยันเสมอว่าเครื่องดนตรียิ่งราคาสูง หากอยู่ในสเป็กเดียวกัน ก็ยังแตกต่างกันในด้านของบุคลิกเสียง

น่าเสียดายที่บ้านเรามีร้านขายอุ๊คดีๆ ไม่กี่ร้าน ทำให้อุ๊คพวกนี้ไม่แพร่หลาย แต่ก็ทำให้เราโฟกัสในการบอกกล่าวง่ายขึ้น ครั้งหน้าผมจะมาร่ายยาวต่อครับ รับรองลงลึกแน่นอนครับ

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

Alfred All In One เล่มที่ 5 รู้ซะก่อนจะพ้นเปียโนเด็ก

โดย พ่อน้องเพลิน

เด็กเล็กจะใช้เวลาสักพักหนึ่งก่อนเรียนจบเปียโนวัยเด็ก Alfred All in one เป็นด่านแรกที่เด็กๆ และผู้ปกครองจะต้องผ่านไปด้วยกัน เมื่อมาถึงเล่ม 5 จะรู้แล้วว่าลูกเรามีแววเก่งกับเขาไหม เพราะถึงตอนนี้ลูกคุณต้องเตรียมตัวสอบ เอาจริงเอาจังกับการเล่นเปียโน ต้องใช้เวลา พ่อแม่ต้องเอาใจใส่พอสมควร

มาดูกันว่าเล่ม 5 นี้เด็กจะเรียนอะไรกัน โดยผมได้สัมภาษณ์ครูพิม จากโรงเรียนดนตรีเกษตรศิลป์ ซึ่งเป็นผู้คร่ำหวอดกับการสอนเด็กๆ มายาวนาน อย่าได้รอช้า เข้าไปดูเนื้อหาของเล่ม 5 เล่มสุดท้ายก่อนเข้าสู่การเรียนเปียโนแบบผู้ใหญ่ได้เลย


วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Alfred All In One เล่มสี่ เรียนเปียโนแน่ๆ ถ้าถึงเล่มนี้

โดย พ่อน้องเพลิน

หลายครั้งที่เราลังเลว่าจะให้ลูกเรียนเปียโนดีมั๊ย เปีนโนเหมาะกับลูกเราหรือเปล่า ถ้าคุณต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือ Alfred All In One เล่มสี่แล้วละก็ไม่ต้องคิดอีกแล้วครับ ลูกคุณเรียนเปียโนอย่างสบายๆ ได้แน่ แต่ก็ยังสามารถเรียนเครื่องดนตรีชิ้นอื่นไปพร้อมกันหากลูกต้องการนะครับ อย่าไปปิดกั้นเฉพาะเปียโน

เนื่องจากพอถึงเล่มนี้ความสามารถในการอ่านโน้ตของลูกๆ จะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ จากแต่ก่อนเล่นกันแต่ในตำราเรียน หยิบโน้ตอย่างอื่นที่ไม่เคยเรียนมาให้ลองเล่น แม้มันจะดูง่าย แต่ไม่ใช่ว่าเด็กจะเล่นได้ เพราะการ Site Reading มันต้องฝึกกันพอสมควร

แต่เมื่อลูกๆ เข้าเล่มนี้และผ่านมันไปได้ เขาจะเล่นเพลงจากข้างนอกได้บ้างแล้ว พ่อแม่ทั้งหลายไม่ต้องตกใจไปนะครับ ต้องค่อยๆ และดูพัฒนาการไปเรื่อยๆ มาถึงตอนนี้ได้แต่เตรียมเงินให้เรียนต่อ และเตรียมส่งสอบได้แล้วครับ ถึงเวลาที่ลูกคุณจะต้องเอาผลงานมาอวดกันแล้วครับ

และอย่างเคย ขอบคุณครูพิม จากโรงเรียนดนตรีเกษตรศิลป์ที่มาถ่ายทอดความรู้ว่า เล่มสี่เล่มนี้ลูกๆ เราเรียนอะไรกัน มาอย่างละเอียดตามเคยครับ ไม่ผิดหวังจริงๆ


วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรียนเปียโน กับ Alfred All In One เล่มสาม ช่วงเวลาของความสุขครอบครัว

โดย พ่อน้องเพลิน

หลังจากผ่าน Alfred All In One เล่มหนึ่งกับเล่มสองมาแล้ว ผู้ปกครองทั้งหลายจะเหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะเล่มปรายเซียนนั้นได้ถูกก้าวข้ามกันไปแล้ว คราวนี้เราจะได้ยินเสียงเพลงของลูกๆ มาเล่นให้เราฟังเป็นเพลงมากขึ้น และเริ่มซับซ้อนตามมา

แต่สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ จากเล่มหนึ่งและเล่มสองที่อาจจะใช้เวลาเรียนอย่างรวดเร็ว แต่พอมาถึงเล่มสามการเรียนอาจยืดเวลาออกไป นั่นหมายถึงว่าเราต้องจ่ายเงินค่าชั่วโมงเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ไม่ใช่การดึงเกมของโรงเรียนและครูแต่อย่างใด

เนื่องเพราะการเรียนแต่ละเพลงจะมีความละเอียดมากขึ้น การลงลึกไปแต่ละเพลงจะส่งผลให้เด็กต้องใช้เวลากับมันมากขึ้น บางเพลงกว่าจะจบเล่นกันหลายอาทิตย์เลยทีเดียว แต่บางทีครูบางคนอาจมีลูกเล่น นั่นคือ สอนหลายเพลงไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นทริกของครู เพราะเท่าที่เห็นเด็กบางคนอาจจะไม่ชอบแนวเพลงบางเพลง ถ้าขืนต้องดันให้เรียนจนจบเพลงนั้นในคราวเดียวอาจกินเวลามาก เด็กอาจจะเบื่อเสียก่อน แต่ถ้าข้ามไปเรียนเพลงอื่นด้วย แรงจูงใจของเด็กจะมีมากกว่า

ดังนั้นเมื่อลูกของท่านเรียนมาถึงเล่มสามก็อย่าตกใจที่ครูมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน หรือสงสัยว่าทำไมลูกเราเรียนช้ากว่าปกติ ที่สำคัญก็คือเตรียมเงินไว้จ่ายค่าเทอมกันยาวๆ ได้เลยครับ

สุดท้ายมาฟังครูพิม จากโรงเรียนดนตรีเกษตรศิลป์กันต่อว่า เล่มนี้เขาเรียนอะไรกันบ้าง ผู้ปกครองอย่างเราจะได้รู้กันเสียที ไม่มัวแต่เดา เชิญครับ


วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรียนเปียโนกับตำราเล่มที่สอง เล่มปราบเซียน

โดย พ่อน้องเพลิน

หลังจากเรียนเล่มหนึ่งของ Alfred All In One ไปจบแล้ว หลายคนอาจจะมองว่าเล่มหนึ่งเป็นเล่มที่ง่ายที่สุด เพราะเรียนรู้โน้ตพื้นฐาน ตัวดำ ตัวขาว แต่เล่มสองของตำราชุดนี้เริ่มจะโหดขึ้น เมื่อต้องปรุงเอาตัวโน้ตเหล่านั้นเป็นเพลงและต้องเล่นแบบมีจังหวะจะโคนซะด้วย

เด็กนักเรียนเปียโนหลายคนยอมแพ้ครับ เพราะหลายเพลงมีแอบยาก แต่ก็พิสูจน์เด็กกันเลยทีเดียวว่ามีความสามารถจะเรียนต่อไปได้หรือไม่ ดังนั้นผู้ปกครองที่เสียเงินให้ลูกเรียนต้องคอยติดตามให้ดีนะครับ รวมถึงให้กำลังใจกันด้วย

ช่วงนี้ถ้าลูกเล่นได้ดี เขาจะเล่นโชว์เราบ่อยๆ และเพลงแรกๆ ของลูกมักจะไพเราะเสมอ อย่าลืมอัดคลิปกันไว้นะครับ จะได้เห็นพัฒนาการของลูกทุกช่วง สุดท้ายขอขอบคุณครูพิมจากโรงเรียนดนตรีเกษตรศิลป์ที่มาให้ความรู้ถึงหนังสือเล่มนี้ครับ ดูคลิปกันเลย


วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ครั้งแรกที่ลูกเรียนเปียโน ลูกเรียนอะไร มารู้จักกันหน่อย

โดย พ่อน้องเพลิน

หลังจากที่คุณและลูกตัดสินใจว่าจะเรียนเปียโน หนังสือเล่มแรกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้คือ Alfred All In One เล่มหนึ่ง จากทั้งหมด 5 เล่ม คือกลุ่มหนังสือที่ลูกๆ ต้องเจอเป็นด่านแรก ขณะที่คุณต้องออกเงินซื้อหนังสือเล่มนี้ให้ลูกเรียนดนตรีเป็นครั้งแรกเช่นกัน

ตำราเล่มนี้ถือว่าใส่พัฒนาการที่จำเป็นให้กับลูกคุณในการเรียนเปียโนมาอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการเรียนรู้โน้ตเบื้องต้น การจับจังหวะ การวางมือที่ถูกต้อง และอีกหลากหลาย ถือว่าสมชื่อของมันคือ All In One และที่สำคัญมันพัฒนาการมาจากหนังสือเรียนรุ่นก่อนๆ ที่แม้จะง่ายในช่วงต้น แต่อยู่ๆ ก็อยากจะยากขึ้นมาซะงั้น เล่นเอานักเรียนใหม่หลายคนท้อเอาได้ แต่สำหรับเล่มนี้นอกจากการปูพื้นที่ดี ยังสร้างสมดุลการเรียนรู้ แล้วยังสร้างความสนุกให้กับเด็กที่เรียนอย่างมาก

วันนี้ผมเลยขออาศัยครูพิม จากโรงเรียนเกษตรศิลป์ ซึ่งมีประสบการณ์การสอนเด็กเล็กมาอย่างยาวนาน เจอเด็กมาแทบทุกประเภท บางคนเรียนช้า บางคนเรียนสี่ชั่วโมงจบเล่มหนึ่งกันแล้ว ไม่ต้องมีเม้มเก็บไว้เรียนนานๆ กันแต่อย่างใด มาบอกเล่ารายละเอียดของหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ท่านผู้ปกครองทั้งหลายได้เข้าใจว่า ลูกเรากำลังเรียนอะไรกันอยู่ ติดตามดูได้ในคลิปกันเลยครับ


วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

10 เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้เมื่อสมัครเรียนเปียโนให้ลูกแล้ว(จบ)



โดย พ่อน้องเพลิน

จบ 5 เรื่องแรกไปแล้ว ตั้งแต่ อย่าไขว้เขวถ้าโรงเรียนจะเอาลูกเราไปเข้าคอร์สเบื้องต้นก่อน ต้องเลือกเรียน เดี่ยวเท่านั้นแบบอื่นไม่เอา ตรงเวลาเสมอเพราะเวลาเรียนเป็นเงินเป็นทอง ตำราต้องพร้อมถ่ายเอกสารไปได้จะดี และวางแผนซ้อมให้ลูกต้องทำเสมอ มีทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ผสมกันไป คราวนี้มาว่ากันต่อว่าอีก 5 ข้อจะเป็นอย่างไรลุยกันเลย

6. ใช้ไอทีให้เป็นประโยชน์กับการเรียน เดี๋ยวนี้หลายโรงเรียนเขาไฮเทคกันแล้ว แต่ถ้ายังไม่เราคงต้องผลักดันกันหน่อย สิ่งแรกที่เราต้องได้ก็คือ เวลาลูกเรียน และตอนเล่นเพลงโดยมีครูนั่งอยู่ด้วย บอกให้ครูหยิบมือถือมาถ่ายคลิปวิดีโอตอนลูกเล่นให้เราดูด้วย จะส่งขึ้น Youtube หรืออะไรก็แล้วแต่ บันทึกเป็นประวัติเอาไว้ เราจะได้เห็นลูกตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ เชื่อได้ว่าได้ใช้งานต่อไปในอนาคตแน่ และเราจะได้ปรึกษากับครูว่า เราต้องมาช่วยกันแก้ข้อผิดพลาดตรงไหน หรือเวลาเราไปเจอครูเปียโนที่อื่นเปิดให้เขาดูจะได้ทดสอบไปด้วยในตัวว่าครูเขาสอนถูกหรือไม่ เด็กบางคนกดเปียโนนิ้วแบมาเลย เพราะครูที่สอนไว้เล็บซะยาว ต้องมาแก้กันกว่าจะได้เล่นเอาเหนื่อย ความไฮเทคอย่างอื่นก็อย่างการตั้งกลุ่ม LINE หรือ FaceBook ขึ้นมาเพื่อสื่อสารระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง อาจเป็นทั้งกลุ่มเฉพาะคน หรือกลุ่มใหญ่เลย ก็ได้ ทำให้เราสามารถติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องการเรียนการสอนได้ตลอดเวลาและทันท่วงที

7. หาเปียโนที่เหมาะสมให้ลูก แหม๋สมัครเรียนเปียโนให้ลูก แต่ไม่มีเปียโนที่บ้านมันดูกระไรอยู่นะครับ ผมเคยเขียนเรื่องนี้เป็นจริงเป็นจังไปแล้ว ขอสรุปตรงนี้เลยครับว่า เปียโนที่บ้านจำเป็นต้องมี คราวนี้มีแบบไหนก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ บ้านรวยมีเนื้อที่เยอะ จัดแกรนด์เปียโนไปเลย บ้านพอมีที่ เงินมีไม่มากแต่ก็ไม่เดือดร้อน แนะนำเปียโนอัพไรต์ มือหนึ่ง ส่วนมือสองต้องตาถึงจริงๆ ส่วนใครพื้นที่บ้านไม่เยอะ เงินยังไม่มีมาก และยังลังเลว่าลูกจะเรียนยาวหรือไม่ แนะนำเปียโนไฟฟ้าที่มีระบบทัชชิ่งใกล้เคียงกับเปียโนจริงๆ กดแป้นแล้วลูกสึกให้น้ำหนัก ราคาไม่เกิน 3 หมื่นบาท อย่าซื้อคียบอร์ดให้ลูกเพราะมันคนละเรื่องกัน

8. ต่อรองส่วนลด เทียบราคา บอกตามตรงว่าแต่ละโรงเรียนค่าเรียนจะไม่เท่ากัน เงื่อนไขต่างๆ ก็ไม่เท่ากัน และอำนาจการต่อรองก็ไม่เท่ากัน บนความไม่เท่ากันนั้นหลายคนไม่รู้ว่าจะพิจารณากันอย่างไร ถ้ามีเวลาลองอย่างนี้ครับ เอาคอร์สเรียนเปียโนแบบเดี่ยวมาเปรียบเทียบค่าชั่วโมงเรียนกันก่อน เช็คดูว่าหนึ่งเล่มที่เรียนจะใช้เวลาในแต่ละที่เท่าไหร่ บางที่ค่าเรียนถูกแต่กั๊กตอนเรียนนั่นคือ จะกำหนดเลยว่าเล่มหนึ่งจะสอนเสร็จภายในกี่ชั่วโมงแล้วจะเป๊ะ แม้ว่าลูกเราเรียนเก่งขนาดไหนก็ห้ามเรียนเร็วเกิน บางที่เก็บแพงหน่อยแต่อัดเต็มที่ ถ้าลูกเรียนเร็วก็จบเร็วไม่มีกั๊ก อย่างนี้คุณอยากให้เรียนที่ไหนดีหละครับ เป็นผมก็ยอมแพงหน่อยใช่ปะ แต่เมื่อเข้าเรียนแล้วจริงๆ เราต่อรองส่วนลดกับโรงเรียนได้ มาดูเงื่อนไขแต่ละอย่างให้ละเอียด บางทีลงเรียนหลายคอร์สจะได้ส่วนลดพิเศษ บางช่วงโรงเรียนมีโปรโมชั่น เราลูกค้าเก่าต้องขอใช้สิทธิ์ อย่าหยุดต่อรองครับ เชื่อผม ยังไงโรงเรียนต้องรักษาฐานลูกค้าเก่าอยู่แล้ว

9. เตรียมใจเรื่องความยาก-ง่าย ในแต่ละช่วงเวลา เรียนเปียโนเหมือนกับต้องทำใจไว้ล่วงหน้า ไม่รู้เป็นอะไรช่วงแรกที่ลูกเรียนเหมือนจะไปไวมาก ชั่วโมงละ 30 หน้าหนังสือก็มี เรียน 3 ชั่วโมงหมดเล่มกันแล้ว พ่อแม่ปลื้มอกปลื้มใจ แต่พอยิ่งเรียนสูงขึ้นไป หนังสือเล่มบางนิดเดียวเรียนกันเป็นปีไม่รู้จักจบ กว่าจะก้าวข้ามแต่ละขั้นลำบากยากเข็ญ ดังนั้นในระหว่างจะมีแทรกอะไรเพื่อให้ลูกได้พักผ่อน หรือให้ลูกเรียนอะไรในสิ่งที่ตัวเองชอบ ต้องคอยปรึกษากับครูตลอดเวลา ขืนปล่อยดุ่ยๆ เรียนตามหนังสืออย่างเดียวอาจเกิดอาการเครียดและผลงานไม่คืบหน้าก็เป็นได้ ดังนั้นผู้ปกครองต้องเข้าใจ และรู้แนวทางตลอดเวลา

10. หาเพื่อนซ้อม หาวงให้ลูกได้แสดงพลัง จะว่าไปแล้วการเรียนเปียโนนี่ถือเป็นเครื่องดนตรีที่เอกเทศพอสมควร เพราะมันจบได้ภายในตัวของมันเอง แต่การเรียนคนเดียวหลายครั้งมันพัฒนาการช้า การได้ไปรวมวงกับเพื่อนๆ จะทำให้พัฒนาของเด็กไปได้เร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ก่อนอื่นเหลียวมองในโรงเรียนดนตรีลูกก่อน ทางโรงเรียนมีนโยบายที่จะเตรียมวงหรือไม่ ถ้าไม่มีเราก็ต้องผลักดัน เปียโนกับนักร้องสักคน เปียโนกับไวโอลินสักตัว เปียโนกับวงป๊อปสักวง ลองจัดสมาชิกให้ครบและหาที่ซ้อมกันก็จะดี หรือถ้าในโรงเรียนดนตรีมันยาก จะไปหาในห้องเรียนโรงเรียนปกติ ก็ไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด แต่เราต้องกุลีกุจอ เจ้ากี้เจ้าการ จัดแจงให้ลูก ต้องรู้ว่านักร้องนำน่าจะเป็นคนไหน เพื่อนคนไหนเรียนดนตรีอะไรอยู่ จริงๆ เรื่องนี้ไม่ง่ายถ้าลูกเรายังเรียนประถมอยู่ แต่จะง่ายขึ้นเมื่อขึ้นมัธยมกันแล้ว

ครบทั้ง 10 ข้อ ทำได้ท้งหมดก็จะดีมาก แต่ถ้าทำไม่ครบไม่เป็นไร เอาแค่เรื่องสำคัญๆ ก็คงพอ หัวใจหลักตรงนี้คือความใส่ใจ การเข้าไปวางแผน การเข้าไปดูรายละเอียด และหาแนวทางส่งเสริมลูก หน้าที่เราคือปูทาง จะบอกว่าเราไม่มีเวลา เราไม่รู้จักแวดวงดนตรี ผมเชื่อว่าพ่อแม่กว่า 90% เป็นอย่างนั้น ดังนั้นเราต้องศึกษา และค่อยๆ หาหนทางไป ลูกเราจึงจะประสบความสำเร็จในอนาคต

10 เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้เมื่อสมัครเรียนเปียโนให้ลูกแล้ว



โดย พ่อน้องเพลิน


หลังจากเลือกโรงเรียนเปียโนให้ลูกกันได้แล้ว นอกจากหน้าที่ในการจ่ายเงินไปรับไปส่ง เรายังมีหน้าที่ในการตัดสินใจอะไรอีกหลายอย่าง เพราะกระบวนการต่างๆไม่ได้จบตอนที่พาลูกไปสมัคร มาดูกันซิว่าอะไรบ้างที่เราต้องทำและตัดสินใจ

1. บอกไปเลยว่าเรียนเปียโนอย่างเดียว อันอื่นไม่ต้องมาเสนอ สาเหตุที่ต้องบอกอย่างนี้เพราะบางคนเอา ลูกเล็กไปเรียน โรงเรียนก็มักจะเสนอว่าเข้าคอร์สพิเศษก่อนดีมั๊ย ประเภทไปเคาะจังหวะ รู้จักเครื่องดนตรี อะไรทำนองนี้ หรือไม่ก็ขอทดสอบว่าจะเรียนเปียโนได้หรือไม่ ผมขอยืนยันตรงนี้ว่า อย่าลังเล เด็กทุกคนเรียนเปียโนได้ และไม่จำเป็นต้องไปเข้าคอร์สล่วงหน้าก่อน ถ้าเราและลูกตัดสินใจว่าเปียโนคือคำตอบสุดท้าย ถ้าโรงเรียนไม่ยินดีสอนก็ถอยออกมา ไปหาที่อื่นเรียน

2. เรียนเดี่ยว ไม่เรียนกลุ่มหรือเรียนคู่ การเรียนเปียโนไม่ใช่เรียนคีย์บอร์ดที่จะเอามากองรวมกันในห้องเดียวกันได้ การเรียนกลุ่มในแง่ปฏิบัติของเปียโนจึงทำได้ยากมาก ถ้าโรงเรียนไหนเสนอให้เรียนกลุ่มให้คิดไปก่อนเลยว่าลูกเราไม่ได้เรียนเปียโนแน่ และจริงๆ ครูเปียโนจะทำหน้าที่เหมือนโค้ชมากกว่า ไม่ควรมาเล่นให้ดูทุกชอต แต่เขาต้องบอกความถูกต้อง ความผิดพลาดและแนวทางแก้ไขให้ลูกเราได้ ดังนั้นการจะทำอย่างนั้นได้ครูต้องอยู่กับลูกเราคนเดียว สังเกตสิ่งที่ลูกเราเล่น สังเกตท่าทาง ความรู้สึก อารมณ์ ความเข้าใจ และอื่นๆ เพื่อนำมาปรับปรุงให้ถูกต้อง การเรียนคู่แม้จะเสียค่าเรียนถูกลง ดูเหมือนจะคุ้มค่ากว่าเพราะอยู่กับเครื่องตั้งหนึ่งชั่วโมง แต่เสียเงินน้อยลง แต่อย่าลืมว่าครูเดินเข้าเดินออก วิ่งไปห้องนั้นที ห้องนี้ที ต้องเป็นครูที่เก่งมากจึงจะโค้ชนักเรียนให้เก่งได้ ทางที่ดีอย่าเสี่ยงครับ ยอมเสียเงินเต็มจำนวนแล้วเรียนเดี่ยวจะดีกว่า ถ้ารักจะเรียนเปียโนจริงๆ

3. เตรียมพร้อมตรงเวลา คนมีลูกมักจะรู้ว่าเด็กๆ นี่เวลาจะงัดจากเตียงมาเรียนหนังสือนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายของพ่อแม่เลย ถ้าลูกเราเป็นเช่นนี้อย่านัดเรียนเปียโนเวลาเช้าให้พวกเขาครับ เดี๋ยวจะเบื่อไม่อยากเรียนซะก่อน เราต้องลูกเวลาที่สบายที่สุดของลูก เมื่อได้เวลาต้องไปให้ตรงเวลา หรือควรไปก่อนเวลาสักครึ่งชั่วโมง ถ้าให้ดีบอกลูกไปเลยว่า เราเสียเงินให้ลูกเรียนเปียโนชั่วโมงละเท่าไหร่ ถ้าเราไปสายเราจะเสียเงินฟรีนาทีละเท่าไหร่ และถ้าไปถึงก่อนเราจะมีเวลาซ้อม วอร์มนิ้วได้ก่อน เพราะส่วนใหญ่ลูกๆ ก็จะไม่ค่อยซ้อมที่บ้านอยู่แล้ว มาโรงเรียนส่วนใหญ่ก็เอาซะหน่อย ยิ่งถ้ามาถึงก่อนไม่มีอะไรทำยิ่งดี นอกจากเรื่องเวลาแล้วการเตรียมพร้อมอย่างอื่นก็แล้วแต่โรงเรียนนะครับ บางแห่งซีเรียสเรื่องการแต่งตัว ต้องสุภาพ บางแห่งไม่มีอะไรมาก สอนได้หมด เราก็ต้องรู้ไว้ อ้อ เรื่องเล็บอย่าลืมนะครับ ตัดให้สะอาด ไม่อย่างนั้นมีปัญหากับการเรียนมาก หลายครั้งครูต้องสั่งให้ตัดเวลานั้นเลย คิดดูเสียเวลาเรียนนาทีละเท่าไหร่มาตัดเล็บ เตรียมการไปให้เสร็จเลยครับ

4. เทคนิคการเตรียมตำราเรียน หลังจากได้ตำราเรียนจากโรงเรียนแล้วสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราจะเจอก็คือ สภาพของหนังสือที่ลูกเรียนถ้าเป็นเด็กเล็กจะยิ่งมีตัวประหลาด เช่น การ์ตูน หรืออะไรต่อมิอะไรมากมายที่เป็นกริมมิคหลอกล่อของครูในการสอนให้เด็กจำ เปื้อนอยู่ในหนังสือเต็มไปหมด ในแง่ความทรงจำผมก็ว่ามันดี มันช่วยสร้าง story เวลาลูกเรากลับมาดู และเวลาทบทวนก็ง่าย เพราะจะจำเหตุการณ์นั้นๆ ได้ แต่ตำราหลายเล่มนั้นมักจะต้องเอาไว้ใช้สอบด้วย การสอบเขาห้ามขีดเขียนอะไรในโน้ตนั้นๆ ดังนั้นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ก็คือ จับเอาหนังสือเรียนไปถ่ายเอกสารเป็นเล่ม เข้าปกให้เปิดง่าย เพราะหนังสือเรียนหลายเล่มเวลาต้องกางออกตรงชั้นวางของเปียโน จะต้องหาอะไรมาทับ เพราะมันกางออกได้ไม่สุด ดังนั้นข้อดีด้วยประการทั้งปวงคือ ถ่ายทั้งเล่ม เอาเล่มถ่ายเอกสารมาใช้เรียน เก็บหนังสือเรียนจริงเอาไว้สอบ อยากเขียนอะไรก็เต็มที่เลย แถมยังกางออกมาใช้ง่าย ที่สำคัญกันลืมเวลาดึงออกจากกระเป๋ามาซ้อมที่บ้านได้อีกด้วย

5. วางแผนซ้อมให้เป๊ะ การเรียนเปียโนและดนตรีทั้งหลายมันต้องซ้อม แต่เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน การวางแผนซ้อมเพื่อรองรับเด็กก็ไม่เหมือนกัน เรื่องนี้ต้องนั่งปรึกษากับครูผู้สอน กางเวลาของเด็กออกมาให้กับครูได้ดู ลูกเลิกเรียนเวลาไหน กลับถึงบ้านแล้วทำอะไรบ้าง ควรซ้อมกี่โมง วันละเท่าไหร่ สัปดาห์นี้จะซ้อมเรื่องอะไร เด็กบางคนซ้อมได้ เล่นได้ จบ ไม่กลับมาซ้อมแล้ว, เด็กบางคนชอบเล่นซ้ำไปซ้ำมา สร้างความมั่นใจให้ตัวเอง, เด็กบางคนไม่ซ้อมเลย เราต้องรู้พฤติกรรม เราต้องรู้กิจกรรมอื่นๆ ของลูก เพื่อไม่สร้างความเครียดให้กับเด็กมากเกินไป การที่เขาไม่ซ้อมนั้นไม่ใช่เขาจะผิดเสมอไป ดังนั้นทางที่ดีเราเองก็ต้องมาช่วยฝึกให้เขาวางแผนชีวิต และมีวินัยในตัวเองมากขึ้น โดยใช้ดนตรีนี่แหละครับ

จบ 5 ข้อแรกจะเห็นว่า เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ เพราะเป็นปัญหาเทคนิค แต่บางเรื่องก็เป็น เรื่องของการวางแผน เป็นเทคนิคที่เราใช้ในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ แต่รายละเอียดเหล่านี้จะมีผลต่อชีวิตลูกๆ ของคุณมาก เราอย่าคิดว่าการส่งให้ลูกไปเรียนดนตรี ยัดไปให้ครูอย่างเดียว ช่วยดูแลลูกเรา แล้วจบ เราเองก็ต้องเอาใจใส่ มองสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำให้ลูกเราได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ไปด้วย ติดตาม 5 ข้อสุดท้ายในตอนหน้าครับ