วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

10 เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้เมื่อสมัครเรียนเปียโนให้ลูกแล้ว(จบ)



โดย พ่อน้องเพลิน

จบ 5 เรื่องแรกไปแล้ว ตั้งแต่ อย่าไขว้เขวถ้าโรงเรียนจะเอาลูกเราไปเข้าคอร์สเบื้องต้นก่อน ต้องเลือกเรียน เดี่ยวเท่านั้นแบบอื่นไม่เอา ตรงเวลาเสมอเพราะเวลาเรียนเป็นเงินเป็นทอง ตำราต้องพร้อมถ่ายเอกสารไปได้จะดี และวางแผนซ้อมให้ลูกต้องทำเสมอ มีทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ผสมกันไป คราวนี้มาว่ากันต่อว่าอีก 5 ข้อจะเป็นอย่างไรลุยกันเลย

6. ใช้ไอทีให้เป็นประโยชน์กับการเรียน เดี๋ยวนี้หลายโรงเรียนเขาไฮเทคกันแล้ว แต่ถ้ายังไม่เราคงต้องผลักดันกันหน่อย สิ่งแรกที่เราต้องได้ก็คือ เวลาลูกเรียน และตอนเล่นเพลงโดยมีครูนั่งอยู่ด้วย บอกให้ครูหยิบมือถือมาถ่ายคลิปวิดีโอตอนลูกเล่นให้เราดูด้วย จะส่งขึ้น Youtube หรืออะไรก็แล้วแต่ บันทึกเป็นประวัติเอาไว้ เราจะได้เห็นลูกตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ เชื่อได้ว่าได้ใช้งานต่อไปในอนาคตแน่ และเราจะได้ปรึกษากับครูว่า เราต้องมาช่วยกันแก้ข้อผิดพลาดตรงไหน หรือเวลาเราไปเจอครูเปียโนที่อื่นเปิดให้เขาดูจะได้ทดสอบไปด้วยในตัวว่าครูเขาสอนถูกหรือไม่ เด็กบางคนกดเปียโนนิ้วแบมาเลย เพราะครูที่สอนไว้เล็บซะยาว ต้องมาแก้กันกว่าจะได้เล่นเอาเหนื่อย ความไฮเทคอย่างอื่นก็อย่างการตั้งกลุ่ม LINE หรือ FaceBook ขึ้นมาเพื่อสื่อสารระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง อาจเป็นทั้งกลุ่มเฉพาะคน หรือกลุ่มใหญ่เลย ก็ได้ ทำให้เราสามารถติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องการเรียนการสอนได้ตลอดเวลาและทันท่วงที

7. หาเปียโนที่เหมาะสมให้ลูก แหม๋สมัครเรียนเปียโนให้ลูก แต่ไม่มีเปียโนที่บ้านมันดูกระไรอยู่นะครับ ผมเคยเขียนเรื่องนี้เป็นจริงเป็นจังไปแล้ว ขอสรุปตรงนี้เลยครับว่า เปียโนที่บ้านจำเป็นต้องมี คราวนี้มีแบบไหนก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ บ้านรวยมีเนื้อที่เยอะ จัดแกรนด์เปียโนไปเลย บ้านพอมีที่ เงินมีไม่มากแต่ก็ไม่เดือดร้อน แนะนำเปียโนอัพไรต์ มือหนึ่ง ส่วนมือสองต้องตาถึงจริงๆ ส่วนใครพื้นที่บ้านไม่เยอะ เงินยังไม่มีมาก และยังลังเลว่าลูกจะเรียนยาวหรือไม่ แนะนำเปียโนไฟฟ้าที่มีระบบทัชชิ่งใกล้เคียงกับเปียโนจริงๆ กดแป้นแล้วลูกสึกให้น้ำหนัก ราคาไม่เกิน 3 หมื่นบาท อย่าซื้อคียบอร์ดให้ลูกเพราะมันคนละเรื่องกัน

8. ต่อรองส่วนลด เทียบราคา บอกตามตรงว่าแต่ละโรงเรียนค่าเรียนจะไม่เท่ากัน เงื่อนไขต่างๆ ก็ไม่เท่ากัน และอำนาจการต่อรองก็ไม่เท่ากัน บนความไม่เท่ากันนั้นหลายคนไม่รู้ว่าจะพิจารณากันอย่างไร ถ้ามีเวลาลองอย่างนี้ครับ เอาคอร์สเรียนเปียโนแบบเดี่ยวมาเปรียบเทียบค่าชั่วโมงเรียนกันก่อน เช็คดูว่าหนึ่งเล่มที่เรียนจะใช้เวลาในแต่ละที่เท่าไหร่ บางที่ค่าเรียนถูกแต่กั๊กตอนเรียนนั่นคือ จะกำหนดเลยว่าเล่มหนึ่งจะสอนเสร็จภายในกี่ชั่วโมงแล้วจะเป๊ะ แม้ว่าลูกเราเรียนเก่งขนาดไหนก็ห้ามเรียนเร็วเกิน บางที่เก็บแพงหน่อยแต่อัดเต็มที่ ถ้าลูกเรียนเร็วก็จบเร็วไม่มีกั๊ก อย่างนี้คุณอยากให้เรียนที่ไหนดีหละครับ เป็นผมก็ยอมแพงหน่อยใช่ปะ แต่เมื่อเข้าเรียนแล้วจริงๆ เราต่อรองส่วนลดกับโรงเรียนได้ มาดูเงื่อนไขแต่ละอย่างให้ละเอียด บางทีลงเรียนหลายคอร์สจะได้ส่วนลดพิเศษ บางช่วงโรงเรียนมีโปรโมชั่น เราลูกค้าเก่าต้องขอใช้สิทธิ์ อย่าหยุดต่อรองครับ เชื่อผม ยังไงโรงเรียนต้องรักษาฐานลูกค้าเก่าอยู่แล้ว

9. เตรียมใจเรื่องความยาก-ง่าย ในแต่ละช่วงเวลา เรียนเปียโนเหมือนกับต้องทำใจไว้ล่วงหน้า ไม่รู้เป็นอะไรช่วงแรกที่ลูกเรียนเหมือนจะไปไวมาก ชั่วโมงละ 30 หน้าหนังสือก็มี เรียน 3 ชั่วโมงหมดเล่มกันแล้ว พ่อแม่ปลื้มอกปลื้มใจ แต่พอยิ่งเรียนสูงขึ้นไป หนังสือเล่มบางนิดเดียวเรียนกันเป็นปีไม่รู้จักจบ กว่าจะก้าวข้ามแต่ละขั้นลำบากยากเข็ญ ดังนั้นในระหว่างจะมีแทรกอะไรเพื่อให้ลูกได้พักผ่อน หรือให้ลูกเรียนอะไรในสิ่งที่ตัวเองชอบ ต้องคอยปรึกษากับครูตลอดเวลา ขืนปล่อยดุ่ยๆ เรียนตามหนังสืออย่างเดียวอาจเกิดอาการเครียดและผลงานไม่คืบหน้าก็เป็นได้ ดังนั้นผู้ปกครองต้องเข้าใจ และรู้แนวทางตลอดเวลา

10. หาเพื่อนซ้อม หาวงให้ลูกได้แสดงพลัง จะว่าไปแล้วการเรียนเปียโนนี่ถือเป็นเครื่องดนตรีที่เอกเทศพอสมควร เพราะมันจบได้ภายในตัวของมันเอง แต่การเรียนคนเดียวหลายครั้งมันพัฒนาการช้า การได้ไปรวมวงกับเพื่อนๆ จะทำให้พัฒนาของเด็กไปได้เร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ก่อนอื่นเหลียวมองในโรงเรียนดนตรีลูกก่อน ทางโรงเรียนมีนโยบายที่จะเตรียมวงหรือไม่ ถ้าไม่มีเราก็ต้องผลักดัน เปียโนกับนักร้องสักคน เปียโนกับไวโอลินสักตัว เปียโนกับวงป๊อปสักวง ลองจัดสมาชิกให้ครบและหาที่ซ้อมกันก็จะดี หรือถ้าในโรงเรียนดนตรีมันยาก จะไปหาในห้องเรียนโรงเรียนปกติ ก็ไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด แต่เราต้องกุลีกุจอ เจ้ากี้เจ้าการ จัดแจงให้ลูก ต้องรู้ว่านักร้องนำน่าจะเป็นคนไหน เพื่อนคนไหนเรียนดนตรีอะไรอยู่ จริงๆ เรื่องนี้ไม่ง่ายถ้าลูกเรายังเรียนประถมอยู่ แต่จะง่ายขึ้นเมื่อขึ้นมัธยมกันแล้ว

ครบทั้ง 10 ข้อ ทำได้ท้งหมดก็จะดีมาก แต่ถ้าทำไม่ครบไม่เป็นไร เอาแค่เรื่องสำคัญๆ ก็คงพอ หัวใจหลักตรงนี้คือความใส่ใจ การเข้าไปวางแผน การเข้าไปดูรายละเอียด และหาแนวทางส่งเสริมลูก หน้าที่เราคือปูทาง จะบอกว่าเราไม่มีเวลา เราไม่รู้จักแวดวงดนตรี ผมเชื่อว่าพ่อแม่กว่า 90% เป็นอย่างนั้น ดังนั้นเราต้องศึกษา และค่อยๆ หาหนทางไป ลูกเราจึงจะประสบความสำเร็จในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น