โดย พ่อน้องเพลิน
การเรียนดนตรีมีครูดีเป็นลาภอันประเสริฐ
มีคำถามว่า ไปเรียนกับครูที่สอนตามบ้านดีไหม ถ้าเข้าเกณฑ์นี้ไปเลยนะครับ 1.
ใกล้บ้าน 2. สภาวะแวดล้อมในบ้านของครูเอื้อกับการเรียน
เช่น ครูไม่มีลูกอ่อน คนในครอบครัวครูไม่มายุ่มย่าม หรือ
มีกิจการอื่นภายในบ้านอยู่แล้ว เช่น ขายก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ 3.ค่าเรียนไม่แพงเวอร์
4. ครูเก่ง และสอนถูกหลักการ มีประสบการณ์มายาวนาน
ถ้าได้อย่างนี้ก็เอาเลยครับ
แต่ถ้าไม่เจอทั้งครูที่รับมาสอนที่บ้าน
ไม่อยากได้ครูสอนที่บ้านครูเอง ก็ต้องพึ่งพาโรงเรียนสอนดนตรีทั่วไปแล้วครับ แล้วจะเลือกยังไงดี
มาเลยครับตามผมมา
ประการแรกผมจะถามก่อนเสมอว่า
คุณติดแบรนด์หรือเปล่า??? ถ้าใช่ไปโรงเรียนที่มีแบรนด์เลย
โรงเรียนเขามีอยู่ทุกจุดทั่วประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ตามห้าง หรือว่าตามหัวมุมถนนต่างๆ
ถามว่าใช้ได้ไหม ผมเล่ารายละเอียดให้ฟังดีกว่า
โรงเรียนแบรนด์พวกนี้เน้นขายแฟรนไชส์เป็นหลัก
ยิ่งโรงเรียนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหวังผลการขายสินค้าเครื่องดนตรีแบรนด์เขาด้วยยิ่งเข้าทาง
เพราะยิ่งเปิดมาก ยิ่งเป็นการโปรโมทเครื่องดนตรีของเขามากขึ้น
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ
เขามีสิทธิ์ทำและยังสามารถทำโรงเรียนดนตรีให้ดีได้อยู่
แต่สิ่งที่เราต้องกังวลก็คือ
ธรรมชาติของแบรนด์พวกนี้ก็คือ ขายหลักสูตรและการจัดการให้กับพวกมีเงินเปิดโรงเรียน
แต่ไม่ได้มีความรู้เรื่องดนตรีอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันถ้าเปิดเองลงทุนเอง
ก็เน้นขยายกิจการไปเยอะๆ เพื่อเน้นการตลาด
ปัญหาอย่างหนึ่งที่เจอเลยก็คือ โรงเรียนดนตรีมีแบรนด์เหล่านี้
จะเก็บครูดีๆ ไว้ไม่ค่อยได้ การหมุนเวียนครูของแต่ละที่จะสูงมาก
อายุงานของครูเฉลี่ยประมาณ 1 ปี มีหลายสาเหตุครับที่เก็บครูกันไว้ไม่ได้
แต่ก็มีพวกฟรีแลนซ์ หรือพวกทำงานปกติ แล้วมาเป็นครูช่วงเสาร์อาทิตย์ก็มี
พวกนี้นี่อยากเป็นครูสอนจริงๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่มักเจอกันเป็นประจำคือ
เรื่องความยืดหยุ่นของเวลาเรียน แน่นอนโรงเรียนพวกนี้จะมีระบบอย่างมาก
ถ้าเราลงเวลาเรียนเอาไว้แล้ว ไม่มาเรียนตามกำหนดนัด
โอกาสที่จะถูกตัดเวลาเรียนนั้นไปเลยมีค่อนข้างสูง บางโรงเรียนธุระการด้านหน้านั่นแหละครับตัวแสบ
เราไม่มาก็ตัดเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองซะอย่างนั้น
สิ่งหนึ่งที่เรามักจะเจอก็คือ
เราจะเรียนดนตรีอะไรก็แล้วแต่ ทางโรงเรียนจะคะยั้นคะยอ
หรือใช้ครูมาบังคับเด็กให้ซื้อเครื่องดนตรีจากโรงเรียนเท่านั้น เรื่องนี้แก้ไม่หาย
และยังฝังหัวอีกว่าแบรนด์นี้เท่านั้นที่เป็นสินค้าดี แบรนด์อื่นมีปัญหาหมด
ทำให้เด็กและผู้ปกครองโลกแคบกันไปเลยทีเดียว
ยังไม่พอเรื่องตำราเรียน
อันนี้บังคับซื้อกันแบบยกชุดก็มี เรียนถึง เรียนไหวหรือเปล่า ไม่ต้องถามกัน
เหมาซื้อกันไปเลย และตำราเรียนดนตรีไม่ใช่เล่มละถูกๆ ก็ต้องจ่ายกันไป
เล่ห์เหลี่ยมที่เราจะเจอยังมีอีก นั่นคือ
การสมัคร ต้องมีค่าสมัครแรกเริ่มหรือไม่ ถ้ามีอันนี้ก็น่าเจ็บปวดพอสมควร
เหมือนเราไปง้อยังไงอย่างงั้น ต่อด้วยจะต้องลงคอร์สขั้นต่ำกี่คอร์ส
อันนี้มีความหมายพอสมควร เงื่อนไขนี้แล้วแต่วิชาที่เรียนด้วยนะครับ
เปียโนอาจจะอย่างหนึ่ง กีตาร์อาจจะอีกอย่างหนึ่ง
คราวนี้มาดูกันว่า
การสมัครคอร์สขั้นต่ำนี่จะมีความหมายอะไร เพราะแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน
แถมโรงเรียนเดียวกันยังขึ้นกับสถานการณ์การเงินในแต่ละช่วงอีกด้วย เช่น
ช่วงนั้นการเงินยอบแยบ กลัวคนไม่มาเรียนอาจจะเก็บคอร์สสั้นๆ
เอาสักหนึ่งหรือสองคอร์ส แต่ถ้าเริ่มไม่ง้อลูกค้าอาจเก็บสักสามคอร์สขึ้นไป
แน่นอนครับการเก็บคอร์สยาวในช่วงเริ่มต้นนั้นผู้ปกครองลำบากแน่ครับ
ต้องเอาเงินก้อนมาจ่ายเพื่อให้ลูกเรียนเปียโน แถมยังทำให้ไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนใจได้เลย
หากเรียนไปแล้วไม่ชอบ อาจต้องทนเรียน ทนเบื่อกันต่อไป ลากกันไปทั้งพ่อแม่ลูก
เรียนดนตรีครั้งนี้อาจไม่มีความสุขได้
ผมแนะนำตรงนี้เลยนะครับว่า
อย่าเพิ่งไปติดแบรนด์ ดูว่าเขาจะเอาใครมาสอนเปียโนลูกเรา ประสบการณ์เขาขนาดไหน
สอนมาแล้วกี่ปี มีคอร์สทดลองหรือเปล่า ลงไปนั่งสักครึ่งชั่วโมงก็จะรู้ว่าครูคนนั้นเคมีเข้ากับลูกเราหรือเปล่า
เสร็จแล้วเครื่องดนตรีเราซื้อเองได้ไหม หนังสือเรียนบังคับกันหรือเปล่า
ต้องลงคอร์สยาวขนาดไหน ฯลฯ คุยให้จบเลยทีเดียว จะได้หายคาใจ
เพราะลูกเรายังต้องเรียนอีกนานหลายปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น