โดย พ่อน้องเพลิน
มาว่ากันต่อจากบทความที่แล้วกันเลยครับ ถึง 5 ข้อที่เหลือ งานนี้รับรองอ่านแล้วได้ของดีแน่
6. ประสบการณ์สอนของครู แน่นอนหลายโรงเรียนมีครูประจำที่สอนกันมาอย่างยาวนาน
หรือมีเด็กใหม่ที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย บางแห่งใช้คนที่เคยเป็นลูกศิษย์ของสถาบันอัพเกรดขึ้นมาเป็นครูสอน
เรื่องนี้ไม่ผิดนะครับ เพราะเด็กพวกนี้เข้าใจระบบการสอนของโรงเรียนเป็นอย่างดี
แต่สิ่งที่ผมอยากให้ดูที่สำคัญคือ สอนแล้วสอบได้กันเยอะหรือไม่
สอนแล้วมีสอบตกหรือเปล่า ที่สอบตกเป็นเพราะอะไร ที่ผ่านมาส่งสอบกันปีละกี่คน
สอบกับสถาบันไหน ครูคนไหนสอนลูกศิษย์ได้คะแนนสอบเป็นอย่างไร
ถ้ามีให้เลือกได้ยิ่งดี แต่เราไม่จำเป็นที่ต้องเลือกครูที่สอนลูกศิษย์ได้คะแนนสูงนะครับ
เอาที่เคมีเข้ากับลูกเรา เพราะส่วนใหญ่ที่ลูกศิษย์ได้คะแนนสูงมักเป็นเพราะครูคนนั้นจุกจิกลงรายละเอียดทุกเม็ด
ผมเจอมาแล้วครับลูกศิษย์ได้ 100 คะแนนเต็มตอนสอบ เพราะครูไม่ปล่อยเลยสักจุด
ถ้ารู้ว่าลูกเราเอาแค่ผ่าน ไม่ต้องจุกจิกขนาดนั้นก็ได้ ก็เลือกคนอื่นจะดีกว่า
ดังนั้น การเลือกประสบการณ์ของครูในการพานักเรียนสอบมีความสำคัญเลยครับ
7. ตาราเรียนพร้อมหรือไม่ เรื่องนี้มองว่าสำคัญหรือไม่สำคัญก็ได้ โรงเรียนใหญ่มักมีตรงนี้พร้อม
และพร้อมจะยัดเยียดคุณให้ซื้อแบบยาวๆ บางโรงเรียนทำตำราของตัวเองไม่มีขายที่ไหน
บังคับต้องซื้อจากโรงเรียนเท่านั้น ในญี่ปุ่นก็เป็นแบบนี้นะครับ
ทำโน้ตของตัวเองขึ้นมาแบบว่าเรียบเรียงจากเพลงฮิตในตลาด
ถือเป็นลิขสิทธิ์การเรียนการสอนของเขาเลย
แต่สำหรับโรงเรียนเล็กเอาแค่มีตำราเรียนก็ถือว่าโอเคแล้ว
เพราะตำราเรียนส่วนใหญ่ไม่ใช่ถูกๆ เล่มบางนิดเดียวเกือบครึ่งพันไปแล้ว และถ้าไม่มีเส้นสายการสั่งหนังสือเรียนจะต้องใช้เวลา
ดังนั้นถ้าโรงเรียนมีพร้อม นั่นหมายความว่าต้องแบกสต็อกเอาไว้เอง
ก็ถือว่าผู้ปกครองคลายความเสี่ยงไปได้บ้าง
ยิ่งถ้าเดินเข้าไปที่ธุระการหรือหน้าโรงเรียนแล้วมีหนังสือขายให้เลือกมากมาย
อันนี้ดีเลย เพราะเราจะได้ดูไปด้วยว่าลูกเราจะเรียนอะไร
หรือจะเลือกอะไรให้ลูกเราเรียน เป็นการมองเห็นทิศทางไปกลายๆ เลยทีเดียว
8. การสร้างสภาวะแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรมและจับต้องยาก เราต้องเข้าไปสัมผัสเองถึงจะรู้
ความรู้สึกไหนบ้างหละที่เราควรสังเกต ประการแรก
ลองนั่งดูพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กที่มาส่งลูกเรียนก่อนที่เราจะลงเรียนดูบ้าง
เด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร เช่น เด็กชอบแข่งขัน
และรู้สึกโดนกดดันจากระบบการสอนของโรงเรียนหรือเปล่า หรือว่าเด็กสนุกสนาน
แต่เฉื่อยแฉะกับการซ้อม บรรยากาศของครูที่นั่นตรึงเครียด นักเรียนสายใครสายมัน
มีการแข่งขันกันในทีของครูที่สอน มีการรวมวงกันเล่นหรือเปล่า มีกิจกรรมเสริมอื่นๆ
ที่จะต้องใช้เวลาของเด็ก หรือใช้เงินของผู้ปกครองเสริมอีกหรือไม่ ฯลฯ เยอะครับ
บรรยากาศพวกนี้เราต้องซึมซับและรีบวิเคราะห์โดยเร็วก่อนตัดสินใจเลือกเรียนโรงเรียนนั้น
9. ความยืดหยุ่นของเวลาเรียน ปกติแม้เราจะลงคอร์สหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้กับลูกก็จริง
แต่เชื่อเหอะหลายครั้งที่เราอาจจะต้องติดธุระ มาไม่ได้ หรือลูกป่วยเป็นต้น
เวลาเรียนพวกนี้โรงเรียนที่ดีจะยืดหยุ่นให้เราพอสมควร
แต่ก็มีหลายโรงเรียนที่อ้างว่าถ้าไม่มาเรียนจำต้องเสียสิทธิ์นั้นไป เพราะทั้งครูและห้องถูกจองสิทธิ์เอาไว้แล้ว
เราไม่มาเขาก็ไม่สามารถโอนเวลาให้คนอื่นได้
อันนี้ก็ต้องตกลงกันตั้งแต่เริ่มว่าจะมีเงื่อนไขอย่างไร อีกเรื่องหนึ่งคือ
ถ้าไม่ใช่เวลาเรียน เช่นไปก่อน หรือหลังเลิกเรียน ลูกเรามีสิทธิ์เข้าไปซ้อมในห้องก่อนได้หรือไม่อย่างไร
หรือการติวพิเศษของครูจะทำได้หรือไม่ คุยกันให้ชัด เอาให้เป็นข้อตกลงกันไปเลย
10. ใกล้บ้านดีกว่าไกลบ้าน เดี๋ยวนี้โรงเรียนดนตรีมีอยู่ทุกแห่งของมุมถนน
หรือว่าในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง แบรนด์ในห้างก็ดีนะครับ แต่ถ้าไปไม่สะดวก เรียนเสาร์อาทิตย์ต้องฝ่ารถติด
ต้องไปวนหาที่จอด เจอนักชอปปิ้งเยอะแยะ รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ
โรงเรียนแถวบ้านประเภทปั่นจักรยานไปเรียนได้ก็น่าจะวิเศษสุด ลูกได้มีเวลาพักผ่อน
พ่อแม่ไม่ต้องเสียเวลาไปส่งไกล ไม่ต้องไปนั่งรอแวะกลับบ้านมาก่อนได้
เรื่องอย่างนี้ถ้าไม่เจอไม่รู้ ดังนั้นเลือกใกล้บ้าน สะดวก ครูสอนดี และมี 9
ข้อข้างบน ผมให้เลือกใกล้บ้านที่สุดครับ
ครับนี่คือบทสรุปสั้นๆ 10 ข้อ
ถือเป็นข้อสังเกตตอนเดินไปเลือกโรงเรียนเปียโนให้ลูก แต่ถ้าคุณมองละเอียด ได้มากกว่านั้นก็ดีนะครับ ผมไม่อยากให้คุณเปลี่ยนโรงเรียนดนตรีให้ลูกบ่อยๆ
อยากให้เรียนที่ไหนก็เรียนกันไปยาวๆ ดังนั้นคงต้องเลือกกันให้ดีนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น