วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

เลือกซื้อเปียโนให้ลูก โจทย์สุดท้ายที่ต้องตอบ


โดย พ่อน้องเพลิน

ในเมื่อเปียโนไฟฟ้าหาซื้อง่าย และคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ แต่คนก็ยังโหยหาเปียโนของแท้ แน่นอนคุณภาพเสียงและระบบสัมผัสมันดีกว่า แต่ขณะเดียวกันเปียโนธรรมดามันยังแพงอยู่ ไปหาของมือสองก็พบว่าเดี่ยวนี้แม้แต่ร้านดังๆ ก็ยังมีการย้อมแมว

แนะนำว่าเวลาไปซื้อ หากไปกับลูกอย่าตามใจลูก ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน ว่ารุ่นนี้มันทำอะไรได้ สุดท้ายไปฟังเสียง อย่าหลงเชื่อพนักงานขาย ทางที่ดีพาครูดนตรี หรือคนที่รู้ไปซื้อด้วย เพราะราคามันแพงครับ

ครูหรือคนที่อยู่ในวงการจะฟังบุคลิกของเปียโน หรือเครื่องดนตรีรุ่นนั้นๆ ออก ว่ามันให้เสียงแบบไหนออกมา ผมเองตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้เล่นดนตรีแบบที่เขาว่า งูๆ ปลาๆ แต่ความที่ต้องหาเครื่องดนตรีให้ลูกตลอดเวลา ทำให้ตอนนี้ผมกลายเป็นหูเทพไปแล้ว ฟังจนรู้ว่าเครื่องดนตรีแบบนี้ให้เสียงแบบไหน

เมื่อคุณฟังเสร็จ ดูข้อมูล รู้ราคา อย่าเพิ่งตัดสินใจ กลับไปนอนคิดที่บ้าน ปรึกษาแฟน หรือคนใกล้ชิด อย่าปรึกษามาก คิดให้ดีๆ เพราะเปียโนมันแพงนะครับ เมื่อตกผลึกแล้วค่อยตัดสินใจ ที่สำคัญอย่าคิดว่าคุณฟังตัวนี้แล้วชอบเลย ซื้อซะ จริงๆ แล้วถ้าคุณได้ฟังหลายๆ ตัวคุณอาจชอบมากกว่านี้

ทางที่ดีหากคุณอยากให้ลูกเรียนเปียโนตอน 4-5 ขวบ ตอนลูกอายุสัก 3-4 ขวบ คุณก็ต้องตระเวนศึกษาเปียโนที่อยู่ในท้องตลาดได้แล้ว นอกจากหาแหล่งขาย หาคนซ่อม คนจูนเครื่อง พร้อมกันนั้นก็หาครูไปด้วยในตัว จะเอาครูมาสอนที่บ้าน (อันนี้ผมไม่แนะนำ) หรือจะไปเรียนที่โรงเรียนไหน อย่าตัดสินใจปุ๊ปปั๊ปเป็นอันขาด เช่น วันศุกร์ลูกบอกอย่ากเรียนเปียโน วันเสาร์เข้าไปสมัครเรียนเลย การไม่เตรียมการเช่นนี้ทำให้การวางแผนระยะสั้นอาจสะดุดได้

แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยเปียโนไฟฟ้า แล้วค่อยๆ ศึกษาวิชาเปียโนแบบผมก็ว่าไปอย่าง ค่อยๆ ดู ค่อยเลือก มีเงินค่อยซื้อไม่มีเงินก็ใช้ตัวเดิมไปก่อน หากได้เปียโนจริง แล้วขายเปียโนไฟฟ้าทิ้งก็ไม่สาย

อีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้อยู่ตอนนี้ก็คือ ในคนที่มาเรียนเปียโนทั้งโรงเรียนของลูกๆ เรา และจากคนรอบตัวที่เรารู้จัก คิดว่าเราน่าจะมีข้อมูลได้บ้างว่า ใครที่ซื้อเปียโนมือหนึ่งมาไว้ในครอบครองบ้าง ทำช็อตลิสต์ไว้เลยนะครับ ผมเชื่อว่าครึ่งหนึ่งของพวกที่ซื้อให้ลูกจะอยากขายเปียโนทิ้ง

สาเหตุไม่มีอะไรมากครับ เพราะคนเรียนเปียโนกว่าครึ่งมีสิทธิ์ถอดใจ และการซื้อมาแล้วไม่เล่น ตั้งไว้เป็นเฟอร์นิเจอร์มันมีแต่ค่าใช้จ่าย ดังนั้นโอกาสที่เขาจะขายทิ้งมีความเป็นไปได้สูง ยิ่งถ้าเป็นเพื่อนกันและมีลูกแย็ปกันไว้ตลอดว่า ถ้าไม่เล่นผมขอซื้อนะ วิธีนี้ก็จะทำให้เราได้ของดีราคาไมแพงมาใช้ก็ได้

ส่วนคนที่ตัดสินใจซื้อเปียโนมือหนึ่ง และเป็นเปียโนตัวแรกของครอบครัว ประการแรกผมยินดีด้วยครับ ประการสองผมอยากบอกว่า เปียโนแต่ละประเทศจะมีเอกลักษณ์ของตนเอง เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นนั้นจำไว้เลยว่า มันคือตัวที่เปล่งภาษา ภาษานั้นสากลแต่สำเนียงนั้นขึ้นกับคนผลิต เปียโนบางประเทศโดยเฉพาะพวกยุโรปตะวันออก สำเนียงเสียงจะดุดัน ถ้าเป็นสำเนียงเอเชีย จะเน้นเสียงกลางๆ แบบว่า ใครก็เล่นได้ เล่นง่าย เพราะเหตุผลทางการค้า

เปียโนหลักๆ จะใช้ไม้ และเครื่องมือกลไกภายใน ไม้จากยุโรปหากมาจากยุโรปจะเน้นไม้ที่แห้ง และมีอายุของต้นที่ยาวนาน เพื่อที่จะทำให้เวลาเคลื่อนย้ายไปยังประเทศที่มีอุณหภูมิที่แตกต่าง ความยืดหดของไม้จะไม่ทำให้เสียงของเปียโนเพี้ยนไป แต่สำหรับเปียโนของแบรนด์เอเชีย ก็มีการคุยทับกันว่ามาตรฐานการผลิตค่อนข้างดี และถ้านำมาใช้ในบ้านเราจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ดังนั้นแบรนด์ส่วนใหญ่ก็จะมีหลักๆ อยู่ในกี่แบรนด์

ถามว่าแบรนด์ไหนดีกว่าใคร ผมเลิกดูตรงนั้นไปนานแล้ว พาผู้รู้ที่ไม่ยึดติดกับแบรนด์ไปด้วย เลือกเสียงที่ใช่ เลือกสไตล์ที่ชอบ ถ้าเงินถึง หรือมีโปรโมชั่นพิเศษ ก็อย่าลังเล พอซื้อมาแล้วก็ไม่ต้องไปสนใจตัวอื่นเลยครับ เล่นตัวที่เรามีอยู่ให้ดีที่สุด ให้คุ้มกับที่ซื้อมันมา

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

เลือกซื้อเปียโนอัพไรต์ให้ลูกเรียนเปียโน

โดย พ่อน้องเพลิน



สำหรับคนที่ตัดสินใจซื้อเปียโนไฟฟ้าให้ลูกไว้ใช้เรียนเปียโน ผมว่าชอตแรกน่าจะจบ คราวนี้มาวัดใจว่าจะได้เปียโนไฟฟ้าดีๆ ไปใช้งานหรือเปล่า??? ถ้าได้ตัวดี ไม่งอแง แป้นคีย์น้ำหนักดี เสียงโอเค ผมถือว่าคุณโชคดีมาก เปียโนไฟฟ้าจะอยู่กับคุณได้อย่างน้อย 5-10 ปีเลยครับ

ผมเคยพูดกับลูกผมว่า ผมไม่มีเงินซื้อเปียโนจริงให้ ใช้เปียโนไฟฟ้าไปก่อน แล้วถ้าหนูเรียนเก่งเมื่อไหร่ หาเงินเองได้ หนูก็เก็บเงินซื้อเปียโนจริงเองเลยนะ ซึ่งคุณลูกผมก็รับปาก ถึงวันนี้ยังไม่ร้องหาเปียโนจริงเลย แม้ผมจะเคยแย็ปไปหลายครั้งก็ตาม

คราวนี้ถ้าคุณมีเงินพอ จะซื้อเปียโน ซึ่งเปียโนอัพไรต์คือเปียโนที่ครอบครัวชั้นกลางขึ้นไปนิยมซื้อ ผมก็แนะนำให้ตัดสินใจซื้อเลย

สาเหตุที่ผมบอกเช่นนั้น เพราะว่า เปียโนอัพไรต์ที่ดี แม้เราจะซื้อมาไว้ที่บ้าน วันดีคืนร้ายลูกเราเบื่อไม่อยากเล่น ไม่อยากเรียน ก็ยังขายต่อไปได้ ราคาไม่ตก บางทีขายได้ราคาดีกว่าเดิม ถ้ารุ่นนั้นดี เป็นที่นิยม และเราดูแลเอาไว้อย่างดี

ที่บอกว่าดูแลอย่างดีนี่ ต้องหมายถึง เล่นมันด้วยนะครับ เพราะเปียโนยิ่งเล่นเสียงจะยิ่งดี เปียโนที่ซื้อมาเก็บไม่ยอมเล่น จะเป็นเปียโนตายครับ

โอเค ตัดสินใจซื้ออัพไรต์กัน ว่าแต่จะซื้อมือหนึ่งหรือมือสองดีหละครับ ในโฆษณาบางทีมีแบบให้เช่าด้วยนะครับ

จริงๆ แล้วเปียโนมือสองในบ้านเรามีร้านจำหน่ายเยอะมาก ถ้าเดินไปตามร้านพวกนี้เขาจะบอกว่า เป็นเปียโนจากญี่ปุ่น เนื่องจากพวกญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เปลี่ยนเปียโนบ่อย ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่เขาให้เหตุผลว่า บ้านเขาผลิตได้เอง เมื่อมีรุ่นใหม่เข้ามาในตลาด เขาก็เปลี่ยนรุ่นกันเหมือนมือถือ หรือรถนั่นแหละครับ

เสร็จแล้วเขาก็ขายทิ้ง เพราะจะเก็บเอาไว้ที่บ้านคงไม่ไหว พื้นที่บ้านเขาน้อยครับ

เรื่องมันอยู่ตรงนี้แหละครับ เพราะหลายครั้งที่ผมไปเดินร้านขายพวกนี้ จะเห็นรุ่นเกือบใหม่มีมาวางขายแล้ว เฮ้ย มันจริงหรือนี่ แล้วราคาที่ขายก็ลดลงจากมือหนึ่งประมาณ 30-40%

ราคาโดยเฉลี่ยของเปียโนอัพไรต์มือสองก็คือ หนึ่งแสนถึงหนี่งแสนห้า ถ้ามีเงินเท่านี้ก็ซื้อได้เลย แต่ช้าก่อน

หลังจากที่ผมเช็คและตรวจสอบมาอย่างดี ช่วงนี้กลับมีข่าวลือหนาหูว่า เปียโนพวกนี้เป็นพวกย้อมแมวขาย อ้าว ทำไมเป็นงั้นหละ คือแหล่งข่าวจากแถวท่าเรือระยองบอกผมมาว่า เขาจะยัดชิ้นส่วนเปียโน ขอย้ำว่าชิ้นส่วนนะครับ ไม่ใช่เปียโนเป็นหลัง ใส่โกดังมากองอยู่เต็มเลย

ที่ต้องเป็นชิ้นส่วนแบบแยกมาก็เพราะว่า ตัวเปียโนประกอบเสร็จจะกินพื้นที่เรืออย่างมาก ค่าบรรทุกคงไม่คุ้มจะนำเข้ามาทั้งเครื่อง ปัญหามันอยู่ตรงนี้ นั่นคือ พวกนำเข้าก็ไม่มีความรู้ พวกประกอบนี่ก็ไม่ได้ทำเหมือนกับรถยนต์นำเข้า ที่จดประกอบ นั่นคือ แยกชิ้นส่วน แต่ยังเป็นของรถคันนั้นอยู่ แต่เปียโนไม่ เปียโนเมื่อประกอบเสร็จจะไม่ใช่ตัวเดิมของมันอย่างแน่นอน ดังนั้นใครที่ซื้อแล้วได้ตัวเดิมของมันถือว่าโชคดีสุดๆ

ข่าวแจ้งมาว่า ตอนนี้ร้านเล็กร้านน้อยที่ขายเปียโนมือสองเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำเช่นนี้ ดังนั้นจะซื้อเปียโนมือสองต้องได้ร้านที่แน่ใจว่า ไปดู ไปเลือกเปียโนมือสองโดยตรงจากญี่ปุ่น และนำเข้ามาเองไม่ผ่านเอเย่นต์แยกประกอบ อาจเสียราคาแพงหน่อย ก็ไว้ใจได้มากกว่า แต่สุดท้ายความไว้ใจก็สู้เอาใบเซอร์เครื่องมาดูไม่ได้ แล้วเราเช็คหมายเลขกันให้ครบไปเลยดีกว่า จะได้สบายใจ

แหม แค่ดูอย่างเดียวยังวุ่นขนาดนี้ ครั้งหน้าเรามาอัพไรต์กันต่ออีกนิดนะครับ ก่อนจะเข้าเรื่องเรียนเปียโน

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

โจทย์แรกของการให้ลูกเรียนเปียโน คืออะไร???


โดย พ่อน้องเพลิน

เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ผู้ปกครองนึกอยากให้ลูกได้เล่นก็คือ เปียโน มันช่างเป็นค่านิยมของผู้ปกครองยุคใหม่จริงๆ

ผมไปดูประวัติและแรงจูงใจเรื่องนี้จากหนังสารคดีก็พบว่า มันเกิดจากเจ้าของห้างสรรพสินค้าต้องการขายเปียโนเข้าบ้าน เลยสร้างภาพลักษณ์การใช้ชีวิตยุคใหม่ด้วยการที่ทุกบ้านต้องมีเปียโน โดยเจ้าของร้านนำมันมาตกแต่งเข้ากับเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ไม่น่าเชื่อว่าเปียโนให้ห้างจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ซื้อไปนี่เล่นเป็นหรือเปล่ายังไม่รู้ แต่ต้องมีไว้ในบ้าน แบบว่ามันเท่

แต่ที่โรงเรียนดนตรีทั้งหลายพยายามยัดเยียดหลักสูตรเปียโนให้เด็กๆ ก่อนนั้นเขาก็มีเหตุผล นั่นคือเปียโนทำให้เด็กอ่านโน้ตดนตรีได้ง่ายและเร็ว ได้ฝึกการแยกประสาท มือซ้าย มือขวา และเปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่สอดคล้องกับธรรมชาติของคน นั่นคือ นั่งแล้วก็กด ไม่ต้องยกไม้ยกมือกดสายให้เจ็บนิ้วเหมือนกีตาร์ หรือการยกมือผิดรูปเหมือนไวโอลิน

อย่างไรก็ตาม มักเกิดคำถามยอดฮิตว่า ประเดิมด้วยการเรียนเปียโนมันจะโหดร้ายสำหรับกระเป๋าเงินผู้ปกครองเกินไปหรือเปล่า???

เพราะอะไรเหรอครับ ก็เพราะผู้ปกครองต้องควักเงินเพื่อซื้อเปียโนมาประดับบ้าน เพื่อให้ลูกได้ซ้อมไงหละครับ จะใช้เวลาเล่นหนึ่งชั่วโมงจากโรงเรียน หลังจากนั้นก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรคงไม่ได้นะครับ

ตอนที่ลูกตัดสินใจเรียนเปียโน ถ้าเราตอบตกลงปุ๊ปปั๊ปแล้วมาแก้ปัญหาทีหลังคงไม่ได้

เริ่มจาก บ้านมีที่วางเปียโนหรือเปล่า บางบ้านอยู่ทาวน์เฮ้าส์ บางบ้านเป็นตึกแถวข้างล่างขายของ ข้างบนอยู่อาศัย บางบ้านหากจะเอาเปียโนเข้าจะต้องทุบประตู หรือหน้าต่างกันเลย ยอมกันหรือเปล่าหละครับ

ปัญหาแรกถ้าหมดไป บ้านมีพื้นที่วางแน่นอน คราวนี้จะเอาเปียโนอะไรดี???

ก่อนอื่นผู้ปกครองที่ไม่เคยเล่นดนตรีอย่าสับสนระหว่าง เปียโน กับคีย์บอร์ดนะครับ เพราะมันคนละเรื่อง ใช้วิธีเรียนที่แตกต่างกันชัดเจนมาก เราตัดคีย์บอร์ดออกไปก่อนเลยนะครับ แม้ว่าบางโรงเรียนก่อนอนุบาลบางแห่งจะเอาเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาสอนลูกเราเป็นหลักก็ตาม

เปียโนผมขอแยกเป็นอย่างนี้ครับ เปียโนตัวใหญ่หรือแกรนด์เปียโน ถ้าคุณเงินถึง มีทีเพียงพอ มีกำลังทรัพย์ที่จะดูแลมันได้ จัดไปเลยครับ นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดของการซื้อเปียโนแล้ว แต่ถ้าคุณมีปัญญาซื้อคงไม่ต้องมาอ่านบทความผมต่อ เพราะถ้าคุณซื้อแกรนด์เปียโนได้ คงต้องมีปัญญาหาข้อมูลก่อนซื้อเองได้แน่ๆ

เปียโนตัวต่อไปคือ เปียโนอัพไรต์ หรือเปียโนที่วางชิดติดผนังได้ อันนี้เป็นเปียโนยอดนิยม ราคาปานกลางยันสูง ส่วนใหญ่ก็จะมาเริ่มกันตรงนี้

เปียโนสุดท้ายก็คือ เปียโนไฟฟ้า ประเภทนี้มีหลากรุ่นหลายแบรนด์ ผู้ผลิตก็มีมากมายหลายประเทศ ราคาก็ไม่แพงมาก

ตรงนี้ผมขอเริ่มจากเปียโนไฟฟ้าแล้วกัน ตอนนี้ในท้องตลาดมีเยอะมาก แต่ถ้าคุณไม่มีเงินซื้อเปียโนจริง และเป็นเปียโนตัวแรกของลูก ไม่กล้าซื้อแพง ผมก็แนะนำเป็นเปียโนไฟฟ้านี่แหละครับ เพราะเดี๋ยวนี้ระบบแป้นนั้นทำได้น้ำหนักเหมือนเปียโนจริงกันเลยทีเดียว ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เป็นหัวใจของการเลือกซื้อเปียโนประเภทนี้เลย ถ้าน้ำหนักแป้นไม่ได้อย่าซื้อเด็ดขาดนะครับ

ข้อดีของเปียโนไฟฟ้าต่อไปก็คือ ราคาไม่แพงครับ สองหมื่นกว่าบาทก็ซื้อได้แล้ว คุณภาพเหมือนเปียโนจริง เสียงมีลูกเล่นที่หลากหลาย เหมาะกับเด็กๆ ที่มานั่งเล่นเปียโน เพราะเด็กอาจจะไม่ได้เล่นแค่เพลงในหนังสือ แต่อาจแต่งเสียงมากมายจากในเครื่องเหมือนคีย์บอร์ดได้ ก็สร้างแรงบันดาลใจได้เยอะ ที่สำคัญมันเบา ประกอบง่าย โยกย้ายตำแหน่งไม่วุ่นวาย และการดูแลรักษาง่ายกว่าเยอะ

การบำรุงรักษาจากตัวแทนจำหน่ายเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง หากจะเลือกซื้อต้องดูให้ดี หลายแบรนด์แม้จะมาจากเมืองจีน ยังมีไลฟ์ไทม์วารันตี คือเครื่องเสียโทรมาแจ้ง เปลี่ยนหรือเอาไปซ่อมให้ฟรี ของผมเคยมาแล้ว เขาเปลี่ยนบอร์ดให้ใหม่เลยครับ ดังนั้นถ้าจะซื้อเปียโนไฟฟ้าเพื่อเบากระเป๋าในช่วงแรกก็ไม่เสียหายอะไรครับ จัดไป

ครั้งหน้าผมจะมาว่าต่อเรื่องเปียโนอัพไรต์กันครับ เรื่องนี้ลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าเยอะ

วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

เรียนดนตรีที่บ้าน ด้วยการสอนฟังเพลง

โดย พ่อน้องเพลิน

ขณะที่เราไว้ใจให้ครูดนตรีสอนดนตรีลูกของเรา แม้เราจะช่วยเขาซ้อมที่บ้านไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือ สร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนดนตรีของลูก

สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การชวนลูกฟังดนตรี แต่ก่อนจะชวนลูกฟัง คุณพ่อหรือคุณแม่ก็ควรจะฟังก่อน และต้องเตรียมทำการบ้านอย่างดี

ผมขอแนะนำอย่างแรกเลยนะครับ คือเข้า Youtube เว็บวิดีโอยอดนิยม คิดว่าทุกคนคงเข้าเป็น นะครับ
ต่อจากนั้นหยิบหนังสือเรียนดนตรีของลูกมาเลยครับ ค้นหาไปยังชื่อเพลงทั้งหมดที่ลูกเรียน บางเพลงก็ค้นง่ายบางเพลงก็ค้นยาก  แต่ผมคิดว่าไม่เหนือบ่ากว่าแรงครับ และหากบันทึกเก็บเอาไว้มาเปิดซ้ำได้จะดีมาก

ฟังให้ออกนะครับว่าทำนองของเพลงเหล่านั้นเป็นอย่างไร อาจจะไม่คุ้นเพราะไม่ใช่เพลงป๊อปที่เราฟังอยู่ทุกวัน ซึ่งเพลงที่เราดาวน์โหลดมาหลายเพลงอาจดูเยอะกว่าเพลงที่ลูกเล่น เพราะส่วนใหญ่เพลงเรียนของเด็กๆ อาจมีการตัดต่อมาสอนเฉพาะบางส่วน และอาจมีการตัดต่อโน้ตบางตัวทิ้งไปด้วย ดังนั้นถ้าลูกเล่นไม่เป๊ะตามที่เราฟังมา อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าลูกเล่นผิดนะครับ เอาแค่ฟังคุ้นๆ ก่อนเป็นพอ

ในกรณีที่ดาวน์โหลดมาเก็บไว้ เราคงต้องคำนึงไว้ด้วยว่าเราจะใช้อุปกรณ์อะไรในการเล่นซ้ำ และโปรแกรมที่เราเล่นอยู่สนับสนุนไฟล์แบบไหน เพราะบน Youtube นั้นมีให้เราโหลดได้หลากหลาย รูปแบบมาก อย่างเครื่องเล่นในรถยนต์ของผมจะรองรับไฟล์ MP4 แต่ไม่รองรับไฟล์ FLV

ดังนั้นอาจจะ ต้องยอมโหลดไฟล์ขนาดใหญ่มาใช้งาน พอโหลดเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วมาพอร์ตเข้า USB ก็ไป เชื่อมต่อกับเครื่องเล่นในรถได้

คราวนี้เวลาขับรถไปส่งลูก รับลูก หรือไปเที่ยวที่ไหนกันเราก็เปิดเพลงพวกนี้เพื่อสร้างความคุ้นเคยได้ทันที ตอนแรกลูกอาจจะไม่ชอบ เราก็ไม่ต้องไปบังคับ เปิดให้ผ่านๆ หู เข้าไว้ แล้วเขาจะเรียนเพลงเหล่านั้นได้ง่ายขึ้นเมื่อเขาได้ฟังมาก่อน ถือว่าเป็นการทำการบ้านก่อนเรียนครับ

เคล็ดลับต่อไปก็คือ สังเกตว่าลูกชอบอะไร และจะแทรกเพลงเข้าไปในสิ่งที่เขาชอบได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าเด็กกว่า 90% ชอบดูการ์ตูน โดยเฉพาะจากหนังของดิสนีย์ พวกนี้มีเพลงนำที่ไพเราะเป็นจุด ขายอยู่แล้ว ส่วนเด็กผู้หญิงยิ่งง่ายใหญ่เลยเพราะ บาร์บี้และซีรีส์ที่ออกมาจะมีเพลงคลาสสิคในยุคต่างๆ แทรกอยู่
หนังการ์ตูนอย่าง Pink Panther หรือ Tom&Jerry ก็มีเพลงเพราะๆ มากมายแทรกเอาไว้

เราสามารถสร้างความคุ้นเคย และดาวน์โหลดเพลงเหล่านั้นมาเตือนความจำให้กับลูกเราได้ ซึ่งเขาจะ สนุกมากที่เราเอ่ยถึง และจะประหลาดใจไปในตัวว่า ที่เราฟังสนุกๆ มันมีเพลงเต็มอย่างนี้ หรือเล่นกันแบบนี้

อีกหนึ่งที่ไม่อยากพลาดก็คือ การ์ตูนญี่ปุ่น จากค่าย Ghibli ซึ่งผลิตการ์ตูนดีๆ ออกมาจำนวนมาก
และเพลงที่เล่นในแต่ละเรื่องก็มีความไพเราะ มีการนำเอาเพลงต่างๆ ในการ์ตูนแต่ละเรื่องมา Cover กันใหม่ได้แบบหลากหลายสไตล์ ไปได้ทั้ง New Age, Swing Jazz, Jazz, Heavy, Rock และอื่นๆ อีกมาก
ที่สำคัญค่ายนี้เขาผลิตโน้ตเพลงออกมาขายด้วย มีทั้งเวอร์ชั่นสำหรับเริ่มต้น ไปจนถึง Advance กันเลยทีเดียว

ลูกสาวผมเธอชอบการ์ตูนจากค่ายนี้มาก และได้เรียนรู้เพลงหลากหลายสไตล์จาก Cover ต่างๆ ทำให้เธอได้ฟังเพลงได้ทุกสไตล์ และมีความสุขกับการฟังเพลงโดยไม่รู้ตัว ที่สำคัญมันมีความใฝ่ ฝันที่จะเล่นเพลงเหล่านั้นเมื่อเธอมีความสามารถพอ

การบ้านข้อต่อไปก็คือ ศึกษาเพลงคลาสสิคของปรมาจารย์ทั้งหลาย ใครที่คิดว่าชาตินี้คงไม่สามารถปีนกระไดฟังเพลงพวกนี้ หากคุณพาลูกไปเรียนดนตรี คุณคงต้องคิดใหม่ทำใหม่ แรกเริ่มคงต้องไปหาหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเพลงคลาสสิคมาอ่าน เอาของคนไทยนี่แหละ เขาเขียนกันดีๆ อยู่หลายเล่ม (ความจริงในท้องตลาดมีไม่กี่เล่ม) ถ้าได้มาแล้วขี้เกียจอ่าน ผมแนะนำว่าให้เปิดยูทูปรอไปเลย เจอชื่อเพลงไหนในหนังสือก็พิมพ์ค้นหา จะมีเพลงที่ทั้งมาจากการบันทึกเสียง และเพลงจากเล่นคอนเสิร์ต เลือกเอาตามสะดวก ทางที่ดีบันทึกเอาไว้ด้วยเลย แล้วไปเปิดฟังกันให้ฉ่ำปอด หูบานกันไปข้างนึง

ช่วงเริ่มต้นลูกอาจจะยังไม่ต้องฟังก็ได้ พ่อแม่ก็ฟังไปเพลินๆ ก่อน เสร็จแล้วค่อยๆ สอดแทรกเข้าไป
เหมือนกับสมัยที่เราเด็กๆ พ่อแม่เปิดเพลงลูกทุ่งลูกกรุงให้เราฟังทุกเช้า ตอนแรกก็ไม่เข้าหู ฟังไปฟังไปเออมันก็เพราะดี หลังๆ เลยติด เปิดเองซะเลย

กลยุทธ์นี้ยังใช้ได้จนถึงรุ่นลูกเรานะครับ ไม่ต้องไปสาธยายมากว่าเป็นเพลงอะไร ดีอย่างไร ใครแต่ง เปิดกรอกหูแบบไม่ล้างสมองคือ ค่อยๆ เปิดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวติดเอง เชื่อผม

เมื่อได้เพลงของปรมาจารย์ทั้งหลายแหล่มาไว้ในมือแล้ว คราวนี้ก็ถึงคราวค้นหาเพลงสุดยอดทางด้านดนตรีที่ลูกเราเลือกเรียน เปียโนก็จัดมา กีตาร์ก็เลือกมา ไวโอลินหรือ อูคูเลเล่ ต้องจัดอย่าได้ขาด ดังนั้นสิ่งที่พอแม่ต้องทำการบ้านก็คือ ศิลปินคนไหนที่สุดยอดในด้านต่างๆ และแต่ละศิลปินมีเพลงไหนที่เราพลาดไม่ได้ เตรียมบันทึกรอไว้ได้เลย

ผมว่ายุคนี้โชคดีกว่ายุคก่อนมาก เพราะสมัยก่อนกว่าจะหาผลงานชั้นเอกมานั่งฟัง ต้องใช้ทั้งเวลา ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และต้องรักที่จะค้นคว้าค้นหา รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือต้องดีพอควร แต่เดี๋ยวนี้เรามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมายที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โหลดมาเก็บไว้กับตัวยังได้ เอาไว้ฟังได้ตลอดเวลา อย่าทำให้โอกาสนี้เสียไป และผมเชื่อว่าความสะดวกสบายเช่นนี้จะอยู่คู่กับเราไปอีกนาน

อีกเคล็ดลับหนึ่งที่ผมใช้แล้วลูกชอบใจมากคือ ผมจะดาวน์โหลดเพลงใหม่ๆ เอ็มวีทั้งของไทยของฝรั่งมาตลอดเวลา

เรียกได้ว่าลูกไม่ต้องเสียเวลาไปเปิดฟังเอง แถมฟังในรถเครื่องเสียงดีๆ มันให้อรรถรสกว่าฟังธรรมดาเยอะ
แต่ผมจะแอบสอดแทรกเพลงเด็ดๆ เอาไว้ในนั้นด้วย อาจเป็นเพลงเก่าที่ติดหู เมื่อลูกพอรู้จักเพลงนั้นแล้ว
ผมจะเริ่มเอาเวอร์ชันต่างๆ ของเพลงที่ผมแอบเอาไว้ งัดออกมาให้ลูกฟัง มีอยู่หลายเพลงแต่งกันไว้เมื่อ 100 กว่าปี แต่ถูกเอามา Cover เป็นหลากสไตล์อย่างมาก และทุกเวอร์ชัน ไพเราะจับใจจริง

เมื่อลูกผมได้ฟังเหมือนเพิ่มพูนสติปัญญาไปในตัว และทำให้เขารักเสียงเพลง รักการฟัง และอยากจะเล่นเพลงๆ นั้นเมื่อโอกาสมาถึง

บทสรุปในส่วนนี้ ผมเรียกร้องให้เราสร้างบรรยากาศการเรียนดนตรีของลูก ด้วยการให้ลูกฟังเพลง ฟังให้เยอะ ฟังให้หลากแนว สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็แล้วแต่ นำเสนอแบบเนียนๆ เข้าไป ต้องออกลูกขยันและวางแผนสักหน่อย

เอาทั้งเพลงเรียน เพลงตามกระแส เพลงในอนาคต เพลงสุดยอดของโลก เพลงหลากหลายเวอร์ชัน
หยอดกันเข้าไป ทีละนิดทีละหน่อย ถือเป็นการสอนลูกโดยที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยสุด

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ตำราเรียนและโน้ตเพลง ใครว่าไม่สำคัญ

โดย พ่อน้องเพลิน

นอกจากค่าเล่าเรียนกับโรงเรียนหรือครูตามปกติแล้ว ยังไม่นับรวมถึงเครื่องดนตรีที่ต้องซื้อให้ลูกซ้อมหรือนำไปเรียน ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งที่ผู้ปกครองลืมนึกไปก็คือ ค่าหนังสือเรียน

จริงๆ ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่น่าจะคุ้นเคยนะครับ เพราะตอนเปิดเทอมโรงเรียนปกติของลูกพวกเราก็ต้องควักเงินจ่ายค่าหนังสือกันอยู่แล้ว และค่าหนังสือเราก็ไม่ได้เลือกเองอีกด้วย ทางโรงเรียนเลือกมาให้เสร็จว่าจะสอนในเล่มนี้ เอาแบบชุดแพคหนึ่งปีกันไปเลย แถมในช่วงเรียนไปแล้วอาจมีหนังสือเรียนเสริมต่างๆ รวมทั้งหนังสืออื่นๆ ที่พ่อแม่บางคนซื้อให้ลูกอ่านโดยเฉพาะ เช่น เฉลยข้อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ

สำหรับโรงเรียนดนตรีก็เช่นกัน หนังสือเรียนเป็นเรื่องสำคัญ แรกๆ หนังสือเรียนอาจไม่มาก ประมาณว่าขั้นละเล่ม แต่รูปแบบการบังคับซื้ออาจต่างกันไป

บางแห่งบังคับซื้อกันเป็นชุด ขายแบบเหมารวมชนิดกลัวผู้ปกครองจะเลิกเรียนเสียกลางคัน พวกนี้ก็ดูจะเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป บางโรงเรียนก็ดีคือ เด็กผ่านเมื่อไหร่ค่อยมาซื้อเล่มใหม่ไปเรียน

แน่นอน การซื้อผ่านโรงเรียนดนตรี ทางโรงเรียนก็ได้กำไรบ้าง แต่ต้องบอกว่าไม่มากหรอกครับ ผมถือว่าช่วยสนับสนุนโรงเรียนให้อยู่รอด เพราะเล่มหนึ่งอาจใช้เวลาในการเรียนอย่างน้อย 2-3 เดือนเลยทีเดียว

ช่วงเด็กๆ เล่มแรกๆ อาจเปลี่ยนหนังสือบ่อย แต่พอขึ้นไปขั้นกลางแล้วหนังสือบางเล่มเรียนกันเป็นปีๆ เลยทีเดียว

ครูบางคนใจดีครับ หยิบตำราของตัวเองไปให้ผู้ปกครองถ่ายเอกสาร จากเล่มละ 4-5 ร้อยบาท เหลือต้นทุนไม่ถึง 100 บาทก็มี แต่ยังไงแล้วผมแนะนำให้ซื้อของจริง เพื่อสนับสนุนงานลิขสิทธิ์นะครับ

อีกทั้งตอนที่สอบกับสถาบันสอบทั้งหลายแหล่ หากเอาตัวถ่ายเอกสารมาสอบนี่เขาปรับตกเลยนะครับ ดังนั้นห้ามเอาความคุ้นเคยมาใช้กับเรื่องนี้เป็นอันขาด

อีกอย่างหนึ่งคือตอนสอบนั้นหนังสือของเราต้องไม่มีลายมือ หรือการโน้ตใดๆ ลงไปนะครับ ตอนที่เด็กเรียนกับครูส่วนใหญ่มักจะไฮไลต์กันบ้าง บันทึก หรือแปลคำศัพท์ที่เราไม่คุ้นเคยลงในหนังสือบ้าง
ดังนั้นไม่แปลกหากเราจะเอาตัวถ่ายเอกสารมาเรียน แต่ขณะเดียวกันก็ควรมีตัวจริงเก็บเอาไว้ในช่วงสอบ

จะว่าไปแล้วตำราดนตรีบ้านเราส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศล้วนๆ และมีหลากหลายสถาบัน ขึ้นกับว่าสถาบันใดจะเลือกใช้สอนแบบไหน

ดังนั้นตำราของแต่ละที่ที่เด็กใช้เรียนอาจแตกต่างกันออกไปตามสภาพ ที่สำคัญแต่ละเล่มนั้นแพงพอสมควรเมื่อเทียบกับหนังสือทั่วไป ผู้ปกครองหลายคนไม่คิดเรื่องนี้มาก่อนอาจพลาดได้

จุดสังเกตอย่างหนึ่งของผมก็คือ มีบางสถาบันค่อนข้างซีเรียสเรื่องตำราเรียนอย่างมาก อยู่ๆ นักเรียนจะมาซื้อหนังสือเรียนที่ต่างชั้นกับตัวเองเรียนไม่ได้ รวมถึงครูผู้สอนด้วย หากสอนอยู่ในขั้นต่ำ จะมาซื้อตำราขั้นสูงไปศึกษาไว้ก่อนไม่ได้ จนกว่าจะผ่านการอบรมของโรงเรียนนั้นๆ ซะก่อน นัยว่าเป็นการรักษาความลับทางการค้าของตัวเอง เพราะแนวทางของตำราก็คือแนวทางหลักการสอนของสถาบันนั้นๆ เลย

จริงๆ แล้วถ้าตำราเรียนมันจบอยู่ที่ตำราหลักมันก็คงดี แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้ปกครองก็ยังคงต้องควักเงินเพิ่ม เพื่อซื้อตำราที่เกี่ยวข้องทั้งจากคำแนะนำของครูผู้สอน รวมถึงซื้อโน้ตเพลงที่เกี่ยวข้อง และโน้ตเพลงเฉพาะทาง หรือโน้ตเพลงสากลเพิ่มเติมที่จะมีเข้ามาใหม่ตลอดเวลา อย่างที่บอกหนังสือแต่ละเล่มราคาก็ 500 บาทขึ้นไป

จากประสบการณ์ของผมแล้ว ผมแทบจะซื้อหนังสือโน้ตเพลงใหม่ให้ลูกผมอย่างน้อยเดือนละเล่มกันเลยทีเดียว โอเคถ้าเป็นโน้ตเปียโนก็จะหาง่ายหน่อย เพราะเป็นเครื่องดนตรียอดนิยม

สถาบันดนตรีทั่วไปก็จะมีวางโชว์ และมีร้านหนังสือเฉพาะทางที่เกี่ยวกับโน้ตเพลงในเมืองไทยอยู่ 2-3 รายให้เรา เห็นวางขายอยู่

แต่ช้าก่อน หนังสือโน้ตเพลงเหล่านี้ถ้าซื้อไม่เป็นอาจช้ำใจภายหลังได้ เพราะมีบางครั้งที่ เกิดการปลอมแปลงโน้ตขึ้นมาขายกันเองของตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้ เรียกว่า copy มาแต่ไม่ทั้งหมดกันการฟ้องร้องว่างั้น ผลก็คือเป็นความซวยของพวกเราไป เพราะพอครูที่สอนเห็นจะรู้ทันทีเลยว่านี่มัน ปลอม

เรื่องแบบนี้ถามครูผู้สอนดีที่สุดครับว่า เขาไว้วางใจตัวแทนจำหน่ายรายใด และรายใดต้องระวังเป็นพิเศษ หรือต้องเดินไปซื้อโน้ตเพลงกันที่ร้านนำเข้าหนังสือต่างประเทศที่อยู่ตามห้าง บอกเลยว่ามีน้อยและไม่เหมาะกับโน้ตที่จะเรียนกันมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเพลงตลาดๆ ซะมากกว่า

สำหรับการสั่งซื้อหนังสือทางออนไลน์แม้ใครจะว่าสะดวก แต่การที่เอาแน่เอานอนในเรื่องการจัดส่งและภาษีที่จะตามมาทำให้ทุกครั้งที่อย่างสั่งมันจึงลังเล

ที่จริงร้านหนังสือใหญ่ในห้างก็มีบริการสั่งแทนให้ได้นะครับ พวกนี้เขาจะมีประสบการณ์สูงอยากได้เล่มไหนเป็นพิเศษก็เข้าไปค้นในเว็บไซต์ขายหนังสือดังๆ แล้วบอกให้ร้านสั่งแทนให้ อาจโดนคิดค่าบริการเล็กน้อย แต่ก็สบายใจกว่ากันเยอะ แม้จะมีข้อจำกัดว่าสำนักพิมพ์นั้นต้องเป็นตัวแทนของเขาด้วยเช่นกัน

ส่วนตัวผมเองมีปัญหาการสั่งซื้อโน้ตเพลงของทางญี่ปุ่นอย่างมาก เพื่อนฝูงที่ไปเที่ยวที่นั่นผมฝากซื้อโน้ตเพลง โหลดหน้าปกไปให้ดู แต่ทุกรายไปร้านหนังสือแล้วไม่มีใครหาหนังสือที่ผมต้องการได้ สุดท้ายก็ต้องใช้บริการสั่งผ่านเว็บ Rakuten ซึ่งเป็นเว็บอีคอมเมิร์ชรายใหญ่ของที่นั่น และให้ไปส่งยังสถานที่ในญี่ปุ่น ก่อนที่จะให้เพื่อนไปรับยังจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ แล้วค่อยหิ้วเข้ามาในเมืองไทย ดูยุ่งยากสลับซับซ้อนน่าดู

เรื่องหนังสือและโน้ตเพลงเป็นเรื่องของการลงทุนอย่างหนึ่งนะครับ อย่าละเลยหรือมองข้ามเป็นอันขาด
เพราะถ้าลูกคุณจะเอาดีทางนี้การมีหนังสือพวกนี้อยู่ในมือจะเป็นเหมือนเครื่องมือให้เขาได้หยิบใช้งานได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโชว์ การสอน หรือแม้กระทั่งการศึกษา ตำราเหล่านี้จึงห้ามหาย ต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี

สรุปในเรื่องตำราเรียนทั้งในและนอกเวลา ถือว่ามีความสำคัญมาก เป็นต้นทุนที่เราต้องจ่าย และจะเป็นเครื่องมือชั้นดีให้กับลูกๆ ของเราในอนาคต ผู้ปกครองทั้งหลายควรจะศึกษาแหล่งซื้อเอาไว้ให้ดี เพราะเครื่องดนตรีแต่ละชนิดก็มีแหล่งซื้อที่แตกต่างกันไป

ทางที่ดีควรวางแผนเรื่องการแบ่งปันตำราเหล่านี้กันในอนาคต ก็จะถือว่าช่วยเหลือพวกเรากันเองได้อีกเยอะ

สุดท้ายก็คือ ผมขอเรียกร้องให้ค่ายเพลงในเมืองไทย เอาโน้ตเพลงของศิลปินในค่ายพิมพ์ออกขายอย่างเป็นทางการเสียที และควรเป็นโน้ตเพลงที่ทำกันเป็นเรื่องเป็นราว จริงจัง ไม่ใช่ให้คนภายนอกมาแกะเพลงให้ หรือขายเพียงเนื้อร้องกับคอร์ดธรรมดา ถือว่าเป็นวิทยาทาน และน่าจะเป็นช่องทางการทำธุรกิจต่อไปในอนาคตได้

ส่วนคนที่เดินร้านหนังสือของคนไทยบ่อยๆ จะมีชั้นวางหนังสือดนตรีอยู่ หากลูกคนเรียนดนตรีแบบเรียนโน้ตเป็นเรื่องเป็นราว

ผมไม่แนะนำให้ซื้อหนังสือคู่มือการเล่นดนตรีชิ้นนั้นๆ ที่มักมีซองพลาสติกหุ้มอยู่นะครับ เพราะหนังสือพวกนี้จะเหมาะกับคนที่ไม่ได้เรียนเป็นจริงเป็นจังมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่ทุกเล่มนะครับ หลายเล่มก็ดีทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งคือ ผู้ปกครองเองก็ต้องไล่ตามให้ทันเทคโนโลยี เพราะเดี๋ยวนี้มีโน้ตเพลงออนไลน์ที่แชร์กันว่อนในเน็ต

ดังนั้นหูตาเหล่านี้พวกเราต้องกว้างไกล ได้ไฟล์มาแล้วบางครั้งไม่จำเป็นต้องพิมพ์เพราะเราสามารถเปิดดูได้จากเครื่องแท็บเล็ตได้เลย พกพาสะดวก ไม่ต้องพกกันเป็นกระเป๋า เป็นแฟ้มเหมือนเมือ่ก่อน

แต่ยังไงแล้วโน้ตเพลงที่มีลิขสิทธิ์ก็อย่าไปละเมิดกันหละครับ ขอร้อง

เรียนดนตรีหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพียงพอแล้วหรือ?

โดย พ่อน้องเพลิน
  
นี่คือคำถามที่พ่อแม่มักไปตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์ทั้งชุมชนออนไลน์ใหญ่ๆ และเว็บไซต์เฉพาะทางทางด้านดนตรี แต่ผมเชื่อขนมกินได้เลยว่า หลายท่านอาจได้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งผมเห็นด้วยว่าคำตอบมันมีหลายอย่างขึ้นกับประสบการณ์และตัวเด็ก

แต่ก่อนอื่นเรามาวิเคราะห์โรงเรียนดนตรีในปัจจุบันกันก่อนดีกว่า
  
โดยพื้นฐานทั่วไปแล้ว โรงเรียนดนตรีจะคิดค่าบริการการสอนเป็นรายชั่วโมง และตกลงกันเป็นคอร์ส ชั่วโมงเรียนของคอร์สแล้วแต่ละโรงเรียนจะกำหนด อันนี้ทางการตลาดถือว่าเป็น product package ซึ่งราคาแต่ละแห่งก็แตกต่างกันไปตามสภาพ หากเป็นเด็กเล็กอายุไม่ถึง 5 ขวบ หรือเด็กที่เพิ่ง เข้ามาเรียนใหม่ๆ โรงเรียนจะให้เรียนครึ่งชั่วโมง
  
ที่เป็นอย่างนั้นเพราะต้องการดูปฏิกริยาของเด็ก และปฎิกริยาของผู้ปกครอง เรียกว่าขอวัดใจกันก่อน
  
การเรียนครึ่งชั่วโมงถือว่าเป็นเวลาที่สั้นมาก บอกตรงๆ เด็กที่จะเอาจริงด้านนี้ต้องบอกว่าน้อยเกินไป แต่ช่วงเวลาที่เริ่มต้นเช่นนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก เป็นช่วงของการตัดสินใจไปต่อหรือไม่กันเลย ถ้าหากมีแววงานนี้มียาว
  
เชื่อไหมครับว่า โรงเรียนดนตรีในประเทศไทยส่วนใหญ่จะคิดว่า เด็กเรียนดนตรีกับครูสักชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็พอ หลังจากนั้นกลับบ้านไปให้ไปซ้อม ถ้าทำได้แล้วค่อยไปต่อ สาเหตุที่คิดอย่างนั้นก็เพราะดนตรีมันต้องซ้อม ต่อให้ตอนเรียนในห้องจะพอทำได้ กลับบ้านไปถ้าไม่ซ้อม ไม่ทำให้ร่างกายจดจำ ร่างกายไม่คุ้นเคย ความเข้าใจอย่างเดียวจะช่วยได้แค่ระดับหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งก็กลัวว่าจะถูกผู้ปกครองด่าว่าจะงกเงินกันไปถึงไหน อยากให้ลงเยอะๆ จะได้เอาเงินฉันไปหละสิ


นอกจากแพคเกจหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้ว ยังมีแพคเกจเรียนแบบกลุ่ม เรียนคู่ ฯลฯ คือในหนึ่งชั่วโมงนั้นครูไม่ได้สอนลูกเราอยู่คนเดียว แต่จะสอนคนอื่นไปด้วยพร้อมกัน ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน

นั่นคือสอนพร้อมกันแบบเห็นกันต่อหน้าต่อตา เล่นไปด้วยกันเลย อันนี้จะไม่นิยมในเด็กเริ่มโตแล้ว แต่จะนิยมในเด็กเล็กๆ มากกว่า

อีกวิธีหนึ่งคือ เรียนกันคนละห้อง ครูจะเดินสายไปมา เข้าห้องนั้นมาฟังนิดนึง เสร็จแล้วบอกโจทย์ให้ทำ เสร็จแล้วปล่อยให้นักเรียนลองเอง ตัวเองก็วิ่งไปอีกห้องหนึ่ง ทำแบบเดียวกัน แล้ววิ่งมาห้องเดิมเพื่อดูว่าที่สั่งให้ทำไปแล้วนักเรียนทำได้ไหม วนเวียนกันอยู่อย่างนี้
  
บอกตามตรงผมไม่ศรัทธาแนวทางการเรียนแบบนี้ ผมว่าเด็กไม่ค่อยได้อะไรมากเท่าไหร่ จริงอยู่ที่แพคเกจนี้จะพบบ่อยมากสำหรับครอบครัวที่นำพี่น้องอายุใกล้เคียงกันมาเรียนดนตรี เพราะพ่อแม่มาส่งทีเดียว เริ่มพร้อมกัน กลับพร้อมกัน และเป็นการประหยัดงบประมาณ เรียนหนึ่งชั่วโมงได้สองคน
  
คราวนี้กลับมาคำถามที่เราตั้ง โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานว่า เรียนตัวต่อตัวกับครู สัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมงเพียงพอหรือไม่? ขอตอบเลยว่า ขึ้นกับเด็ก เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมครอบครัวต่างกัน ความคาดหวังและพฤติกรรมของพ่อแม่ก็ต่างกัน
  
ผมขอยกตัวอย่างประสบการณ์จากลูกสาวผมก่อน ประการแรกลูกสาวผมเป็นเด็กประเภทจริงจังกับการเรียนต่อหน้าครูมาก คืออยู่ต่อหน้าครูจะรู้สึกว่าครูเป็นคนแปลกหน้า ไม่กล้าเล่น ไม่กล้าพูด ไม่กล้าสื่อสาร ครูสั่งอะไรก็พยายามทำ ไม่งอแง ไม่วอกแวก ครูจะมาเล่าให้ฟังเสมอว่าลูกผมเวลาอยู่ในห้องเหมือนกับเด็กมหาวิทยาลัยมาเรียนดนตรี ไม่เหมือนเด็กปกติที่ต้องใช้ลูกล่อลูกชน และคอยจะเล่นตลอดเวลา

แต่ในขณะที่คุณลูกของผมตั้งใจเรียนให้ห้องอย่างมาก เมื่อมาถึงบ้านกลับไม่ค่อยอยากซ้อม สิ่งที่ผมสังเกตคือ ถ้าเป็นเพลงที่เธอเล่นได้จากห้องเรียนแล้ว เวลามาเล่นที่บ้านเธอจะรู้สึกว่ามันไม่ท้าทาย เล่นรอบเดียวได้แล้วก็จะไม่เล่นอีก ส่วนเพลงที่เล่นไม่ได้เมื่อมาซ้อม เล่นอย่างไรก็ผิด เพราะไม่มีคนชี้แนะให้ ไม่เหมือนที่เรียนในโรงเรียนที่มีครูชี้แนะและแก้ไข

ไอ้ครั้นจะถามพ่อแม่ก็หมดหวังเพราะไม่เป็นกันทั้งนั้น ดังนั้นเต็มที่ในการซ้อมของเธอคือ อาทิตย์ละครั้ง แต่ละครั้งไม่เกินครึ่งชั่วโมง บ่อยครั้งเข้าถึงกับไม่ซ้อมเอาเลย
  
กลายเป็นว่าสภาพแวดล้อมของโรงเรียนเอื้อต่อการเรียนของลูกผมมากกว่าที่บ้าน เธอต้องการความรู้จากครูมากกว่าความพยายามที่จะซ้อมและหาความชำนาญด้วยตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าเด็กหลายคนเป็นอย่างลูกผม คำถามตอนนั้นของผมก็คือ จะหาโซลูชั่นแก้ไขโจทย์นี้ได้อย่างไร เพราะถ้าปล่อยไปอย่างนี้ ลูกคงจะก้าวหน้าได้ยาก
  
เชื่อไหมครับว่า ปัญหาลูกไปเรียนหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้วกลับบ้านมาไม่ซ้อม เป็นปัญหาที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ตัดสินใจว่า ลูกไม่คิดจะเอาดีทางนี้ ดังนั้นจึงตัดใจและไม่ส่งลูกเรียนดนตรีต่อไปในที่สุด โดยให้เหตุผลว่าลูกไม่ตั้งใจ ทำอะไรก็ไม่จริงจัง โดยไม่คิดวิเคราะห์ถึงปัญหา และไม่ดูสภาพโดยรวมที่แท้จริงก่อน ปัญหาทั้งหมดโยนไปที่เด็ก
  
การแก้ไขปัญหานี้จริงๆ มีได้หลายวิธี ผู้ปกครองบางคนจ้างครูพิเศษมาสอนเพิ่มเติม ลองเอามือดีมีชื่อเสียงมาสอนกันเลย ซึ่งก็ต้องจ่ายแพงขึ้น 

บางคนสร้างแรงบันดาลใจใหม่ หาเพื่อนหรือพี่น้องมาซ้อมมือด้วยกัน พ่อแม่บางคนยอมไปเรียนดนตรีอย่างอื่นเพื่อมาเล่นคู่กับลูก ก็ต้องดูว่าลูกคุณยอมรับกับสภาวะแวดล้อมแบบไหนมากกว่ากัน
  
ส่วนตัวผมเองนั้น มีลูกสาวคนเดียว เพื่อนข้างบ้านไม่มี แม้ผมจะเล่นกีตาร์ได้บ้าง แต่เพลงที่ลูกเรียนส่วนใหญ่จะไม่ใช่เพลงแนวที่ผมเล่น จะให้เล่นคู่กันจึงยาก ดังนั้นโซลูชั่นที่เหมาะกับผมมากที่สุดก็คือ ไปเพิ่มชั่วโมงเรียนให้กับลูกสวนทางกับผู้ปกครองคนอื่นไปเลย คือจากเรียนหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็เป็นเรียนสองชั่วโมงต่อสัปดาห์
  
บอกตามตรง วิธีการแก้ไขปัญหาของผมครั้งนี้ทำให้ครูและโรงเรียนแปลกใจ และกังวลว่าจะทำให้เด็กเครียดและหนักเกินไปหรือเปล่า?
  
แต่ก่อนจะเสนอโซลูชั่นนี้ผมนั่งจับเข่าคุยกับลูกสาวผมแล้ว สิ่งที่ผมคุยก็คือ แจกแจงให้เธอฟังว่าแต่ละชั่วโมงที่เธอไปเรียนนั้นผมต้องเสียเงินเท่าไหร่ และหากเธอกลับมาบ้านแล้วไม่ซ้อม พอไปเรียนเธอก็เล่นไม่ได้ ผมจะต้องจ่ายเงินจากการไม่ซ้อมของเธอเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเธอเข้าใจดี เธอก็อยากทำให้ดีที่สุดเช่นกัน

ดังนั้นเมื่อเราเห็นตรงกันก็ต้องช่วยกันหาทางออก และทางออกด้วยการเรียนชั่วโมงเพิ่มนั้น ก็เป็นหนทางที่ผมต้องเสียเงินเพิ่มเป็นสองเท่า เพื่อแลกกับการให้เธอซ้อมที่บ้านน้อยลง
  
ผลจากการทดลองแก้ปัญหานี้ ทำให้ลูกผมก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ดังนั้นสำหรับลูกสาวผม เรียนดนตรีสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง ปัจจุบันตอนที่ผมเขียนเรื่องราวเหล่านี้อยู่ ลูกสาวผมเรียนดนตรีสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง และตอนปิดเทอมเธอใช้เวลาเรียนมากกว่านี้ เรียกว่า ว่างเป็นเรียน
  
อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ปัญหาอย่างผม อาจไม่เหมาะกับเด็กคนอื่น ผมว่าแต่ละคนอาจจะมีวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันได้ ขอเพียงอย่างเดียวว่า ผู้ปกครองต้องรู้จักสังเกต ต้องรู้จักลูกของคุณอย่างดี และพยายามหาทางเลือกที่ดี่สุดให้ลูก

ไม่ใช่เจอปัญหาแล้วตัดสินใจไม่เรียนต่อเพื่อยุติปัญหา ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดปมกับลูกของคุณไปจนโต กลายเป็นเรื่องน่าเสียใจอันหนึ่งของครอบครัวไปเลย
  
จุดสังเกตของผมอย่างหนึ่งก็คือ เด็กก่อนอายุสิบขวบจะมีแรงที่จะซ้อมที่บ้านน้อยมาก อาจเพราะพวกลูกๆ ยังเด็กเกินไป และมีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำมากมาย ไหนจะเรียน จะเล่น ความมุ่งมั่นก็มีไม่มาก

แต่พอหลังจากสิบขวบไปแล้วแรงฮึดจะมีเยอะกว่า บางคนนั่งซ้อมได้เป็นชั่วโมง และยิ่งจะขยายเวลาไปเรื่อยๆ ทำไปทำมาซ้อมกันอย่างน้อยสี่ชั่วโมงต่อวันยังมีเลยครับ ดังนั้นช่วงต้นถ้าลูกซ้อมน้อยก็อย่าเพิ่งวิตกไป แต่ในทางกลับกันพวกวัยรุ่นอาจมีจุดสนใจมากขึ้น บางคนมีแฟนโดยเฉพาะลูกสาวนี่การเรียนดนตรีแทบจะหยุดไปเลย ฯลฯ
  
สรุปตรงนี้คือ ถ้าลูกเรียนหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้วกลับไปซ้อม แล้วผลงานดีอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโชคดีของครอบครัว เดินหน้าต่อไปเลย 

แต่ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ที่ต้องการ หรือสภาวะแวดล้อมต่อการเรียนมันไม่เอื้อ ให้กับมาศึกษาลูกเราให้มากกว่าเดิม และหาโซลูชั่นที่เหมาะกับเขาและเธอให้มากที่สุด ที่สำคัญคือนั่งจับเข่าคุยกับลูกอย่างเปิดอก และนำเสนอการแก้ไขปัญหากับลูกอย่างตรงไปตรงมา โดยแนวทางแก้ไขนั้นต้องได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย

เริ่มให้ลูกเรียนดนตรี ขั้นอนุบาลดีหรือไม่???

โดย พ่อน้องเพลิน

สมัยนี้โรงเรียนปกตินอกจากจะมีหลักสูตรประถมศึกษารูปแบบต่างๆ เยอะแยะให้เลือกเรียน ยังมีหลักสูตรอนุบาลแปลกตามาล่อเงินจากผู้ปกครอง ที่สำคัญนั้นยิ่งส่งให้ลูกเรียนอนุบาลราคาค่าเล่าเรียนก็แพงกว่าค่าเล่าเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

แหมประเดิมกันซะขนาดนี้ สงสัยการศึกษาไทยจะสร้างความคุ้นเคยให้ผู้ปกครองอย่างเรา ต้องเตรียมตัวสำหรับลูกแต่เนิ่นๆ

แต่ช้าก่อน เรื่องมันไม่ได้จบแค่นั้น มีอนุบาลยังไม่พอ เขายังมีโรงเรียนเตรียมอนุบาลกันอีก เอาเข้าไป พวกที่ส่งลูกเรียนมีสองกลุ่มใหญ่ครับ หนึ่งคือพวกที่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกจริงๆ กับสองพวกที่อยากให้ลูกได้เตรียมความพร้อม กลัวเรียนไม่เก่ง

ในวงการด้านการเรียนดนตรีบ้านเราก็มีกรณีอย่างนี้เช่นกัน ถ้าคุณคิดอยากจะเรียนกับครูตามบ้าน อยากให้ครูมาสอนที่บ้าน ให้ข้ามตอนนี้ไปเลย แต่ถ้ากำลังตัดสินใจนำลูกไปเรียนดนตรีตอน 3-5 ขวบ แบบที่เขาโฆษณากัน ตอนนี้ไม่ควรพลาดโดยสิ้นเชิง

อย่างที่ผมกล่าวไปในบทต้นๆ หละครับ ภาษาดนตรีโดยเฉพาะโน้ต มันก็เหมือนภาษาอีกภาษาหนึ่ง ยิ่งเรียนตอนอายุน้อย จะมีโอกาสทำความเข้าใจและใช้งานมันได้ดีกว่ามาเรียนเอาตอนโต หรือตอนแก่ ด้วยเหตุผลนี้แหละครับเขาเลยนำบทวิจัยอันนี้มาทำการตลาด และสร้างหลักสูตรขึ้นมาสำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะ

สมัยผมเป็นนักข่าว มีโอกาสได้ไปงานแถลงข่าวของผู้บริหารที่มาจากญี่ปุ่น เขาเล่างานวิจัยที่ทำจากประเทศของเขา ตอนนั้นผมเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง สิ่งที่ผู้บริหารนั้นเชื่อยังมีมากกว่านั้น นั่นคือการเรียนดนตรีแบบกลุ่มจะทำให้เด็กรับรู้ได้ดีกว่าเรียนแบบเดี่ยว ซึ่งผมมารับรู้ทีหลังว่า ประโยคนี้มันถูกครึ่งเดียว

แต่ที่แน่ๆ การเรียนดนตรีแบบเตรียมอนุบาลนั้น เป็นลูกเล่นทางการตลาดที่โรงเรียนขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถทำได้ โรงเรียนเล็กๆ หรือพวกสอนตามบ้านยากจะทำได้

ดังนั้นตลาดนี้จำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือ บรรดาโรงเรียนเตรียมอนุบาลทั้งหลาย เมื่อสามารถรับเด็กเข้าเรียนได้ ก็จะสามารถผลักเด็กเหล่านั้นเข้าสู่โรงเรียนอนุบาลได้เกือบ 100% และสามารถผลักเข้าสู่ เด็กประถมได้กว่า 80%

ดังนั้นในแง่ธุรกิจการได้ส่วนแบ่งการตลาดในจุดนี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ที่พลาดไม่ได้เลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น การเรียนดนตรีแบบอนุบาลส่วนใหญ่จะเรียนจากคีย์บอร์ด ถือเป็นการสร้างความคุ้นเคยในเครื่องดนตรีแบรนด์นั้นๆ ตั้งแต่เด็กไปในตัว 

สินค้าพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับเปลี่ยนรุ่นกันตลอดทุกปี ดังนั้น นอกจากจะเป็นการระบายสินค้าในสต็อก ยังเป็นการสร้างลูกเล่นทางการขายให้กับลูกค้าใหม่ทุกปีโดยผ่านโรงเรียนพวกนี้ ดังนั้นถ้าจะเรียนก็ต้องเข้าใจพื้นฐานพวกนี้ให้ดีก่อน

หากสังเกตให้ดีโรงเรียนเตรียมอนุบาลนั้น จะเก็บค่าเทอมแพงกว่าชั้นๆ อื่นๆ มีสาเหตุมาจากการต้องจ้างครูประกบเด็กมากกว่าในชั้นอนุบาลหรือชั้นประถม เนื่องจากเด็กยังเล็กเกินไปที่จะดูแลตัวเองได้

ความน่าสนุกอยู่ตรงนี้ครับ โรงเรียนเตรียมอนุบาลด้านดนตรีกลับเปลี่ยนความคิดตรงนี้ใหม่แล้วใส่ลูกเล่นที่เก๋ไก๋ลงไป แทนที่จะจ้างครูมาดูแลมากขึ้น ก็เปลี่ยนจากครูมาเป็นผู้ปกครองแทน หรือเอาผู้ปกครองนั่นแหละครับมาเรียนพร้อมกับลูก สุดยอดแห่งความฉลาดจริงๆ

ถึงตรงนี้อาจจะอ่านความคิดของผมออกแล้ว ครับ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเรียนเตรียมอนุบาลทางด้านดนตรีเท่าไหร่ เนื่องเพราะผมเห็นว่ามันมีข้อดีและข้อเสียในตัวของมันอยู่ จะมองแต่ด้านเสียอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีเด็กที่ถูกปลุกปั้นจากการเรียนแบบนี้ และเป็นเด็กที่เก่งเลยก็มีมาก ผมเพียงแต่บอกว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนแบบนี้เด็กก็เก่งได้เท่านั้นเอง

มาว่ากันต่อครับ อย่างที่กล่าวแหละครับ ทางการตลาดของโรงเรียนพวกนี้ก็คือ ตกเหยื่อล่อปลา ดังนั้นค่าเรียนช่วงแรกจะไม่แพงมาก และการได้เห็นลูกเรียนไปพร้อมกับลูกคนอื่น ถ้าลูกเราเล่นได้ดีมันปลื้มอย่างบอกไม่ถูกครับ

แต่ช้าก่อน ผมว่า 90% ของผู้ปกครองที่พาลูกมาเรียนคอร์สแบบนี้ พ่อแม่มักไม่เป็นทางด้านดนตรีเท่าไหร่ เพราะถ้าเป็นอยู่แล้วสอนเองที่บ้านจะดีกว่า

ดังนั้นบ่อยครั้งที่ลูกเล่นไปพร้อมกับพ่อแม่ ลูกเล่นได้แต่พ่อแม่เล่นไม่ได้ก็มี มีเถียงมีงอนกันให้เห็น ออกลูกอายเพื่อน หรือบางครั้งลูกอาจเกิดความเครียดมากกว่าเดิม สภาพการแข่งขันมันเกิดขึ้น แม้บรรยากาศการเรียนจะดูสนุก แต่มันแฝงอะไรอยู่ในนั้นเยอะมาก

โรงเรียนพวกนี้จะมีวัดผล บอกความคืบหน้าของลูกเราโดยตลอด ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นจังหวะ ยังไม่ลงลึกเรื่องโน้ตเพลง ซึ่งกลับกันกับความคาดหวังของงานวิจัยจริงๆ นั่นคือ เด็กจะเรียนรู้โน้ตได้เมื่อตอนเด็กเล็ก กิจกรรมต่างๆ เพื่อแค่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเราควรให้ลูกเรียนคอร์สอะไรของเขาต่อจากนี้ไป

ใช้เวลาประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นตามวัยของเด็ก คราวนี้แหละคุณก็จะกลาย เป็น cash cow ให้กับสถาบันดนตรีนั้นๆ โดยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นค่าเรียน ค่ากิจกรรม ค่าสอบ ค่าจัดแข่ง ค่าติวเตอร์ ถ้ามีเงินก็ไม่น่ามีปัญหา แต่สำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยที่อยากให้ลูกเรียนดนตรี

ผมว่าแบบนี้มันโหดร้ายเกินไปหน่อย หลายคนถึงกับยอมถอยกันเลยนะครับ ดังนั้นต้องเตือนกันไว้แต่เนิ่นๆ 

ผมยืนยันว่าการสอนดนตรีมันเป็นธุรกิจ ต้องมีกำไรขาดทุน โรงเรียนสอนดนตรีไม่ใช่สถาบันการกุศล เจ้าของต้องอยู่รอด ครูที่มาสอนต้องกินต้องใช้ ความหวังดีที่จะให้ลูกเราเก่งดนตรีนั้นมีอยู่ แต่การที่จะเป็นครูดนตรีแบบเก่า ที่มาทุ่มเวลาให้กับศิษย์แบบทั้งกายและใจ มันไม่มีอีกแล้ว

ดังนั้นโปรแกรมทางการตลาดเพื่อสร้างรายได้มันเป็นเรื่องจำเป็น คิดแบบนี้เราจะได้รับมือกับมันถูก

สรุปตรงนี้ก็คือ ถ้าคุณมีเงินเพียงพอ และเห็นว่าการเข้าเตรียมอนุบาลดนตรีจะทำให้เกิดกิจกรรมที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก ทำให้ได้ใกล้ชิดระหว่างกันมากขึ้น และเห็นแววเด็กแบบตรงๆ ไม่ต้องฟังจากปากครู หรือคนอื่น ส่งลูกเข้าเรียนได้เลย

แต่ถ้าไม่รีบร้อน 5 ขวบ รอให้สรีระได้ แล้วให้ลูกเรียนในโรงเรียน ที่ใช่ เจอครูที่ชอบ เรียนไปตามแผนที่เราวางไว้ เด็กก็เก่งได้ไม่ยากครับ 

อีกเรื่องก็คือ หากอยากให้เก่งดนตรีเรียนเตรียมอนุบาลพอมีเหตุผล แต่อยากให้เก่งดนตรีชิ้นไหน เช่น อยากให้เก่งเปียโน ให้เรียนเปียโนไปเลยครับ อย่าไปเรียนหลักสูตรพวกนี้เป็นอันขาด

ก่อนวางแผนเลือกโรงเรียนดนตรีให้ลูก ต้องเลือกเส้นทางสอบก่อน

โดย พ่อน้องเพลิน

ลูกเลือกชนิดของดนตรีได้ถูกใจแล้ว พาลูกไปหาโรงเรียนและครูคนแรก ก่อนที่จะจ่ายเงินลงทะเบียน ผมอยากให้ผู้ปกครองทั้งหลายอย่าลืมถามด้วยว่า ที่โรงเรียนใช้สถาบันไหนสอบวัดมาตรฐานเด็ก

เชื่อไหมครับตอนที่ผมพาลูกเข้าเรียนใหม่ๆ ผมไม่เคยรู้เลยว่า เรียนดนตรีต้องมีสอบ ผมคิดว่าเอาแค่ลูกเราเล่นได้ก็ดีถมไปแล้ว

แต่หลังจากนั้นเรื่องง่ายๆ ไม่เคยเกิดขึ้นในโรงเรียนดนตรี เชื่อผม

โรงเรียนดนตรีส่วนใหญ่จะมีระบบการสอบเลื่อนขั้นแทบจะทุกโรงเรียน แต่การสอบไม่ได้เป็นการบังคับ จะสอบหรือไม่สอบก็ได้

แต่การสอบมันก็ได้ประโยชน์หลายอย่าง ตั้งแต่การที่จะได้รู้ว่าความสามารถของลูกเราอยู่ในขั้นไหน ตำราเรียนแบบไหนจะเหมาะกับลูกเรา

ที่สำคัญถ้าอยากให้ลูกเป็นครูดนตรีในอนาคต ใบประกาศพวกนี้สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นการจะเอาเอกสารไปเรียนดนตรีต่อที่อื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัย เอกสารพวกนี้ก็ใช้ประกอบได้ดีทีเดียว

ปกติสถาบันการสอบพวกนี้จะมาจากต่างประเทศ ผมลองไล่เรียงให้ดูนะครับว่าสถาบันดังๆ เขามีชื่ออะไรกันบ้าง Trinity College London เรียกสั้นๆ ว่าทรินิตี้ อันนี้จะยอดฮิต, ABRSM (Associated Board of the Royal School of Music) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Royal, Australian  Music  Examinations  Board, London  College  of  Music &  Media , a  faculty  of  Thames  Valley  University หรือ LCM, ANZCA (Australia and New Zealand Cultural Arts) จริงๆ ที่ฮิตๆ ก็มีไม่กี่ที่ดังว่า

หากต้องมานั่งวิเคราะห์ว่า จะเลือกสอบจากสถาบันไหนแล้วค่อยเลือกเรียน ผมเองก็ไม่แนะนำครับ เรื่องนี้เป็นทางเลือกมากกว่า

ถามว่าสถาบันไหนรุ่งที่สุด ก็ยืนยันว่าสุดท้ายมันแค่ใบประกาศ การที่ลูกจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องอยู่ที่ฝีมือ

ที่แล้วมาโรงเรียนดนตรีจะผูกการสอบไว้กับสถาบันใดสถาบันหนึ่ง น้อยโรงเรียนที่จะมีให้เลือกมากกว่าหนึ่ง และบางโรงเรียนเป็นเอเย่นต์ใหญ่ในการสอบให้สถาบันนั้นๆ เลยด้วยซ้ำ

ดังนั้นถ้าเลือกโรงเรียนแล้วคงต้องมาศึกษาเรื่องนี้ไว้ด้วย เพราะจะมีผลต่อเนื่องตามมา

ส่วนใหญ่ระบบการสอบแทบทั้งหมดจะมีประมาณนี้ครับ คือ ขั้นเด็กเล็ก 3 ขั้น ขั้นผู้ใหญ่ 4 ขั้น และขั้นมือโปร 4 ขั้น

เอาว่าถ้าสอบปีละขั้นก็ต้องใช้เวลา 11 ปีด้วยกันเลยทีเดียว ตีซะว่าเข้าเรียนประถม หนึ่ง กว่าจะจบก็ต้องเกือบมัธยม 6 กันเลย ลองคิดดูว่าต้องสอบทุกปี เหมือนกับสอบปลายภาค ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่อย่างเราจะรับไหวหรือเปล่า?

บอกตามตรงนะครับว่า เด็กที่เรียนดนตรีและผ่านการสอบตามขั้นดังกล่าว กว่าจะพ้นขั้นผู้ใหญ่ทั้ง 4 ขั้น จะเหลือจริงๆไม่เกิน 50% หรือถูกกรองออกไปกว่าครึ่ง

สถาบันสอบเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมาจากต่างประเทศ และคนที่มาสอบก็เป็นฝรั่งตัวเป็นๆ บอกเลยครับว่าไม่ได้ผ่านง่ายๆ เด็กบางคนเจอแจ็คพอต ฝรั่งที่มาสอบเป็นคนเขียนเพลงในหนังสือเรียน เผอิญเด็กเลือกสอบเพลงนั้นซะด้วย แบบว่ารู้จริงๆ ไม่ใช่ฝรั่งตรอกข้าวสารธรรมดาๆ

เกณฑ์การสอบส่วนใหญ่จะต้องผ่าน 60% และค่าสอบแต่ละแห่งไม่ใช่ถูกๆ หลักพันขึ้นไปทั้งนั้น

สอบไม่ผ่านก็เสียเงินฟรีไป บางคนสอบแล้วสอบอีกก็ไม่ผ่านซะที บางคนสอบทีเดียวผ่าน บางคนกระ โดดข้ามขั้น จากเกรดหนึ่งไปเกรดสาม บางปีคะแนนสอบดี บางปีคะแนนสอบแย่แค่ประคองตัวก็มี บางคนสอบเครื่องดนตรีสองอย่างในปีคราวเดียวกัน ทั้งหมดทั้งปวงผู้ปกครองต้องคุยกับโรงเรียนให้ดี

ถ้าคุณคิดว่าการสอบสำคัญกับคุณ เรียนแล้วมันต้องสอบได้ ก็คงต้องเลือกโรงเรียนกันหน่อย เพราะโรงเรียนเล็กๆ บางแห่ง กลับมีความชำนาญและทำให้เด็กสอบได้มากกว่าโรงเรียนใหญ่ๆ ที่มีนักเรียนเยอะๆ

เรื่องอย่างนี้ดูง่ายนิดเดียวก็คือ ถามกล่าวกันตรงๆ ว่าเปอร์เซ็นต์การสอบของโรงเรียนเป็นอย่างไร สอบผ่านเยอะไหม ไอ้ที่สอบผ่านสอบกันได้คะแนนเท่าไหร่ แต่ละปีมีการสอบกี่คน ฯลฯ

ถามไปเถอะครับ ถ้าโรงเรียนไหนเขาเก่งจริง เขาจะโชว์ จะเม้าส์มอยให้คุณฟังจนเบื่อเลยครับ

ผมยืนยันตรงนี้ครับว่า มีบางโรงเรียนสอบได้ยกชั้น มีบางโรงเรียนสอบตกยกชั้น เพราะแต่ละแห่งเขาเน้นแตกต่างกัน

การสอบนี่นอกจากจะต้องติวกันจริงจัง ต้องมีครูที่เชี่ยวชาญเหมือนกับเป็นครูฝรั่งที่มาสอบ ต้องรู้ว่าฝีมือขั้นนี้ยังขาดอะไรอยู่ จะเลือกเพลงสอบเพลงไหนที่เรียกคะแนนสอบได้ดี เพลงนั้นๆ จะต้องเน้นอะไร ถ้าโรงเรียนไม่เน้นการสอบจริงๆ ผมว่าผ่านยากครับ

นอกจากนั้น โรงเรียนยังต้องคอยสังเกตนะครับว่า ลูกของเราที่กำลังเรียนอยู่นั้น ควรสอบขั้นไหน ไม่ใช่ตะบี้ตะบันสอบไปที่ละขั้น เพื่อหลอกเอาเงินผู้ปกครองไปแต่ละปี

คิดดูนะครับว่าเรียน 11-12 ปี ค่าเรียนดนตรีจะเท่าไหร่กัน บางทีเด็กที่เรียนได้ดี ครูจะสามารถวางแผนการสอนเพื่อสอบกระโดดขั้นได้เลย ทำไปทำมาเรียนสัก 7-8 ปีก็พอ

สรุปตรงนี้ก็คือ วางแผนกันไปเลยครับว่าโรงเรียนสอบกับสถาบันไหน สอบอย่างไร จริงจังกันแค่ไหนทั้งครูและผู้ปกครอง 

ต่อจากนั้นวางแผนกันต่อว่าจะสอบช่วงไหนอย่างไร ควรเว้นวรรคช่วงไหน เช่น ตอนต้องไปสอบเข้าโรงเรียนปกติ ประมาณสอบเข้ามัธยมหนึ่ง มัธยมสี่ ฯลฯ แล้วจะใช้เวลากี่ปีในการสอบ หรือว่าเรียนแค่ไหนแล้วจะพอ เราควรจะเห็นภาพและวางแผนลูกเราตั้งแต่เริ่มนะครับ

ปล. ในกรณีเรื่องสอบ มีสองที่ไม่ควรมองข้าม หนึ่ง บางโรงเรียนมีระบบการสอบของตัวเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสถาบันไหน ถ้าคุณมั่นใจมาตรฐานก็ลุยเลย แล้ววันหลังเกิดไม่พอใจ ก็มีสถาบันกลางในการสอบมาตรฐานซึ่งเป็นสถาบันในเมืองไทยนี่แหละ สามารถเป็นคำตอบให้กับคุณได้ 

สอง พวกที่เอาครูไปสอนตามบ้าน พวกนี้ก็สอบได้เหมือนกัน ถามไปเลยว่าอยากให้สอบสถาบันไหนแต่เนิ่นๆ ทางที่ดีก็ควรสอบสถาบันที่ครูเขาสอบมานั่นแหละครับดีที่สุด เขาจะได้เกร็งแนวทางได้