วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Alfred All In One เล่มสี่ เรียนเปียโนแน่ๆ ถ้าถึงเล่มนี้

โดย พ่อน้องเพลิน

หลายครั้งที่เราลังเลว่าจะให้ลูกเรียนเปียโนดีมั๊ย เปีนโนเหมาะกับลูกเราหรือเปล่า ถ้าคุณต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือ Alfred All In One เล่มสี่แล้วละก็ไม่ต้องคิดอีกแล้วครับ ลูกคุณเรียนเปียโนอย่างสบายๆ ได้แน่ แต่ก็ยังสามารถเรียนเครื่องดนตรีชิ้นอื่นไปพร้อมกันหากลูกต้องการนะครับ อย่าไปปิดกั้นเฉพาะเปียโน

เนื่องจากพอถึงเล่มนี้ความสามารถในการอ่านโน้ตของลูกๆ จะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ จากแต่ก่อนเล่นกันแต่ในตำราเรียน หยิบโน้ตอย่างอื่นที่ไม่เคยเรียนมาให้ลองเล่น แม้มันจะดูง่าย แต่ไม่ใช่ว่าเด็กจะเล่นได้ เพราะการ Site Reading มันต้องฝึกกันพอสมควร

แต่เมื่อลูกๆ เข้าเล่มนี้และผ่านมันไปได้ เขาจะเล่นเพลงจากข้างนอกได้บ้างแล้ว พ่อแม่ทั้งหลายไม่ต้องตกใจไปนะครับ ต้องค่อยๆ และดูพัฒนาการไปเรื่อยๆ มาถึงตอนนี้ได้แต่เตรียมเงินให้เรียนต่อ และเตรียมส่งสอบได้แล้วครับ ถึงเวลาที่ลูกคุณจะต้องเอาผลงานมาอวดกันแล้วครับ

และอย่างเคย ขอบคุณครูพิม จากโรงเรียนดนตรีเกษตรศิลป์ที่มาถ่ายทอดความรู้ว่า เล่มสี่เล่มนี้ลูกๆ เราเรียนอะไรกัน มาอย่างละเอียดตามเคยครับ ไม่ผิดหวังจริงๆ


วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรียนเปียโน กับ Alfred All In One เล่มสาม ช่วงเวลาของความสุขครอบครัว

โดย พ่อน้องเพลิน

หลังจากผ่าน Alfred All In One เล่มหนึ่งกับเล่มสองมาแล้ว ผู้ปกครองทั้งหลายจะเหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะเล่มปรายเซียนนั้นได้ถูกก้าวข้ามกันไปแล้ว คราวนี้เราจะได้ยินเสียงเพลงของลูกๆ มาเล่นให้เราฟังเป็นเพลงมากขึ้น และเริ่มซับซ้อนตามมา

แต่สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ จากเล่มหนึ่งและเล่มสองที่อาจจะใช้เวลาเรียนอย่างรวดเร็ว แต่พอมาถึงเล่มสามการเรียนอาจยืดเวลาออกไป นั่นหมายถึงว่าเราต้องจ่ายเงินค่าชั่วโมงเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ไม่ใช่การดึงเกมของโรงเรียนและครูแต่อย่างใด

เนื่องเพราะการเรียนแต่ละเพลงจะมีความละเอียดมากขึ้น การลงลึกไปแต่ละเพลงจะส่งผลให้เด็กต้องใช้เวลากับมันมากขึ้น บางเพลงกว่าจะจบเล่นกันหลายอาทิตย์เลยทีเดียว แต่บางทีครูบางคนอาจมีลูกเล่น นั่นคือ สอนหลายเพลงไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นทริกของครู เพราะเท่าที่เห็นเด็กบางคนอาจจะไม่ชอบแนวเพลงบางเพลง ถ้าขืนต้องดันให้เรียนจนจบเพลงนั้นในคราวเดียวอาจกินเวลามาก เด็กอาจจะเบื่อเสียก่อน แต่ถ้าข้ามไปเรียนเพลงอื่นด้วย แรงจูงใจของเด็กจะมีมากกว่า

ดังนั้นเมื่อลูกของท่านเรียนมาถึงเล่มสามก็อย่าตกใจที่ครูมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน หรือสงสัยว่าทำไมลูกเราเรียนช้ากว่าปกติ ที่สำคัญก็คือเตรียมเงินไว้จ่ายค่าเทอมกันยาวๆ ได้เลยครับ

สุดท้ายมาฟังครูพิม จากโรงเรียนดนตรีเกษตรศิลป์กันต่อว่า เล่มนี้เขาเรียนอะไรกันบ้าง ผู้ปกครองอย่างเราจะได้รู้กันเสียที ไม่มัวแต่เดา เชิญครับ


วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรียนเปียโนกับตำราเล่มที่สอง เล่มปราบเซียน

โดย พ่อน้องเพลิน

หลังจากเรียนเล่มหนึ่งของ Alfred All In One ไปจบแล้ว หลายคนอาจจะมองว่าเล่มหนึ่งเป็นเล่มที่ง่ายที่สุด เพราะเรียนรู้โน้ตพื้นฐาน ตัวดำ ตัวขาว แต่เล่มสองของตำราชุดนี้เริ่มจะโหดขึ้น เมื่อต้องปรุงเอาตัวโน้ตเหล่านั้นเป็นเพลงและต้องเล่นแบบมีจังหวะจะโคนซะด้วย

เด็กนักเรียนเปียโนหลายคนยอมแพ้ครับ เพราะหลายเพลงมีแอบยาก แต่ก็พิสูจน์เด็กกันเลยทีเดียวว่ามีความสามารถจะเรียนต่อไปได้หรือไม่ ดังนั้นผู้ปกครองที่เสียเงินให้ลูกเรียนต้องคอยติดตามให้ดีนะครับ รวมถึงให้กำลังใจกันด้วย

ช่วงนี้ถ้าลูกเล่นได้ดี เขาจะเล่นโชว์เราบ่อยๆ และเพลงแรกๆ ของลูกมักจะไพเราะเสมอ อย่าลืมอัดคลิปกันไว้นะครับ จะได้เห็นพัฒนาการของลูกทุกช่วง สุดท้ายขอขอบคุณครูพิมจากโรงเรียนดนตรีเกษตรศิลป์ที่มาให้ความรู้ถึงหนังสือเล่มนี้ครับ ดูคลิปกันเลย


วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ครั้งแรกที่ลูกเรียนเปียโน ลูกเรียนอะไร มารู้จักกันหน่อย

โดย พ่อน้องเพลิน

หลังจากที่คุณและลูกตัดสินใจว่าจะเรียนเปียโน หนังสือเล่มแรกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้คือ Alfred All In One เล่มหนึ่ง จากทั้งหมด 5 เล่ม คือกลุ่มหนังสือที่ลูกๆ ต้องเจอเป็นด่านแรก ขณะที่คุณต้องออกเงินซื้อหนังสือเล่มนี้ให้ลูกเรียนดนตรีเป็นครั้งแรกเช่นกัน

ตำราเล่มนี้ถือว่าใส่พัฒนาการที่จำเป็นให้กับลูกคุณในการเรียนเปียโนมาอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการเรียนรู้โน้ตเบื้องต้น การจับจังหวะ การวางมือที่ถูกต้อง และอีกหลากหลาย ถือว่าสมชื่อของมันคือ All In One และที่สำคัญมันพัฒนาการมาจากหนังสือเรียนรุ่นก่อนๆ ที่แม้จะง่ายในช่วงต้น แต่อยู่ๆ ก็อยากจะยากขึ้นมาซะงั้น เล่นเอานักเรียนใหม่หลายคนท้อเอาได้ แต่สำหรับเล่มนี้นอกจากการปูพื้นที่ดี ยังสร้างสมดุลการเรียนรู้ แล้วยังสร้างความสนุกให้กับเด็กที่เรียนอย่างมาก

วันนี้ผมเลยขออาศัยครูพิม จากโรงเรียนเกษตรศิลป์ ซึ่งมีประสบการณ์การสอนเด็กเล็กมาอย่างยาวนาน เจอเด็กมาแทบทุกประเภท บางคนเรียนช้า บางคนเรียนสี่ชั่วโมงจบเล่มหนึ่งกันแล้ว ไม่ต้องมีเม้มเก็บไว้เรียนนานๆ กันแต่อย่างใด มาบอกเล่ารายละเอียดของหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ท่านผู้ปกครองทั้งหลายได้เข้าใจว่า ลูกเรากำลังเรียนอะไรกันอยู่ ติดตามดูได้ในคลิปกันเลยครับ


วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

10 เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้เมื่อสมัครเรียนเปียโนให้ลูกแล้ว(จบ)



โดย พ่อน้องเพลิน

จบ 5 เรื่องแรกไปแล้ว ตั้งแต่ อย่าไขว้เขวถ้าโรงเรียนจะเอาลูกเราไปเข้าคอร์สเบื้องต้นก่อน ต้องเลือกเรียน เดี่ยวเท่านั้นแบบอื่นไม่เอา ตรงเวลาเสมอเพราะเวลาเรียนเป็นเงินเป็นทอง ตำราต้องพร้อมถ่ายเอกสารไปได้จะดี และวางแผนซ้อมให้ลูกต้องทำเสมอ มีทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ผสมกันไป คราวนี้มาว่ากันต่อว่าอีก 5 ข้อจะเป็นอย่างไรลุยกันเลย

6. ใช้ไอทีให้เป็นประโยชน์กับการเรียน เดี๋ยวนี้หลายโรงเรียนเขาไฮเทคกันแล้ว แต่ถ้ายังไม่เราคงต้องผลักดันกันหน่อย สิ่งแรกที่เราต้องได้ก็คือ เวลาลูกเรียน และตอนเล่นเพลงโดยมีครูนั่งอยู่ด้วย บอกให้ครูหยิบมือถือมาถ่ายคลิปวิดีโอตอนลูกเล่นให้เราดูด้วย จะส่งขึ้น Youtube หรืออะไรก็แล้วแต่ บันทึกเป็นประวัติเอาไว้ เราจะได้เห็นลูกตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ เชื่อได้ว่าได้ใช้งานต่อไปในอนาคตแน่ และเราจะได้ปรึกษากับครูว่า เราต้องมาช่วยกันแก้ข้อผิดพลาดตรงไหน หรือเวลาเราไปเจอครูเปียโนที่อื่นเปิดให้เขาดูจะได้ทดสอบไปด้วยในตัวว่าครูเขาสอนถูกหรือไม่ เด็กบางคนกดเปียโนนิ้วแบมาเลย เพราะครูที่สอนไว้เล็บซะยาว ต้องมาแก้กันกว่าจะได้เล่นเอาเหนื่อย ความไฮเทคอย่างอื่นก็อย่างการตั้งกลุ่ม LINE หรือ FaceBook ขึ้นมาเพื่อสื่อสารระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง อาจเป็นทั้งกลุ่มเฉพาะคน หรือกลุ่มใหญ่เลย ก็ได้ ทำให้เราสามารถติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องการเรียนการสอนได้ตลอดเวลาและทันท่วงที

7. หาเปียโนที่เหมาะสมให้ลูก แหม๋สมัครเรียนเปียโนให้ลูก แต่ไม่มีเปียโนที่บ้านมันดูกระไรอยู่นะครับ ผมเคยเขียนเรื่องนี้เป็นจริงเป็นจังไปแล้ว ขอสรุปตรงนี้เลยครับว่า เปียโนที่บ้านจำเป็นต้องมี คราวนี้มีแบบไหนก็แล้วแต่กำลังทรัพย์ บ้านรวยมีเนื้อที่เยอะ จัดแกรนด์เปียโนไปเลย บ้านพอมีที่ เงินมีไม่มากแต่ก็ไม่เดือดร้อน แนะนำเปียโนอัพไรต์ มือหนึ่ง ส่วนมือสองต้องตาถึงจริงๆ ส่วนใครพื้นที่บ้านไม่เยอะ เงินยังไม่มีมาก และยังลังเลว่าลูกจะเรียนยาวหรือไม่ แนะนำเปียโนไฟฟ้าที่มีระบบทัชชิ่งใกล้เคียงกับเปียโนจริงๆ กดแป้นแล้วลูกสึกให้น้ำหนัก ราคาไม่เกิน 3 หมื่นบาท อย่าซื้อคียบอร์ดให้ลูกเพราะมันคนละเรื่องกัน

8. ต่อรองส่วนลด เทียบราคา บอกตามตรงว่าแต่ละโรงเรียนค่าเรียนจะไม่เท่ากัน เงื่อนไขต่างๆ ก็ไม่เท่ากัน และอำนาจการต่อรองก็ไม่เท่ากัน บนความไม่เท่ากันนั้นหลายคนไม่รู้ว่าจะพิจารณากันอย่างไร ถ้ามีเวลาลองอย่างนี้ครับ เอาคอร์สเรียนเปียโนแบบเดี่ยวมาเปรียบเทียบค่าชั่วโมงเรียนกันก่อน เช็คดูว่าหนึ่งเล่มที่เรียนจะใช้เวลาในแต่ละที่เท่าไหร่ บางที่ค่าเรียนถูกแต่กั๊กตอนเรียนนั่นคือ จะกำหนดเลยว่าเล่มหนึ่งจะสอนเสร็จภายในกี่ชั่วโมงแล้วจะเป๊ะ แม้ว่าลูกเราเรียนเก่งขนาดไหนก็ห้ามเรียนเร็วเกิน บางที่เก็บแพงหน่อยแต่อัดเต็มที่ ถ้าลูกเรียนเร็วก็จบเร็วไม่มีกั๊ก อย่างนี้คุณอยากให้เรียนที่ไหนดีหละครับ เป็นผมก็ยอมแพงหน่อยใช่ปะ แต่เมื่อเข้าเรียนแล้วจริงๆ เราต่อรองส่วนลดกับโรงเรียนได้ มาดูเงื่อนไขแต่ละอย่างให้ละเอียด บางทีลงเรียนหลายคอร์สจะได้ส่วนลดพิเศษ บางช่วงโรงเรียนมีโปรโมชั่น เราลูกค้าเก่าต้องขอใช้สิทธิ์ อย่าหยุดต่อรองครับ เชื่อผม ยังไงโรงเรียนต้องรักษาฐานลูกค้าเก่าอยู่แล้ว

9. เตรียมใจเรื่องความยาก-ง่าย ในแต่ละช่วงเวลา เรียนเปียโนเหมือนกับต้องทำใจไว้ล่วงหน้า ไม่รู้เป็นอะไรช่วงแรกที่ลูกเรียนเหมือนจะไปไวมาก ชั่วโมงละ 30 หน้าหนังสือก็มี เรียน 3 ชั่วโมงหมดเล่มกันแล้ว พ่อแม่ปลื้มอกปลื้มใจ แต่พอยิ่งเรียนสูงขึ้นไป หนังสือเล่มบางนิดเดียวเรียนกันเป็นปีไม่รู้จักจบ กว่าจะก้าวข้ามแต่ละขั้นลำบากยากเข็ญ ดังนั้นในระหว่างจะมีแทรกอะไรเพื่อให้ลูกได้พักผ่อน หรือให้ลูกเรียนอะไรในสิ่งที่ตัวเองชอบ ต้องคอยปรึกษากับครูตลอดเวลา ขืนปล่อยดุ่ยๆ เรียนตามหนังสืออย่างเดียวอาจเกิดอาการเครียดและผลงานไม่คืบหน้าก็เป็นได้ ดังนั้นผู้ปกครองต้องเข้าใจ และรู้แนวทางตลอดเวลา

10. หาเพื่อนซ้อม หาวงให้ลูกได้แสดงพลัง จะว่าไปแล้วการเรียนเปียโนนี่ถือเป็นเครื่องดนตรีที่เอกเทศพอสมควร เพราะมันจบได้ภายในตัวของมันเอง แต่การเรียนคนเดียวหลายครั้งมันพัฒนาการช้า การได้ไปรวมวงกับเพื่อนๆ จะทำให้พัฒนาของเด็กไปได้เร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ก่อนอื่นเหลียวมองในโรงเรียนดนตรีลูกก่อน ทางโรงเรียนมีนโยบายที่จะเตรียมวงหรือไม่ ถ้าไม่มีเราก็ต้องผลักดัน เปียโนกับนักร้องสักคน เปียโนกับไวโอลินสักตัว เปียโนกับวงป๊อปสักวง ลองจัดสมาชิกให้ครบและหาที่ซ้อมกันก็จะดี หรือถ้าในโรงเรียนดนตรีมันยาก จะไปหาในห้องเรียนโรงเรียนปกติ ก็ไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด แต่เราต้องกุลีกุจอ เจ้ากี้เจ้าการ จัดแจงให้ลูก ต้องรู้ว่านักร้องนำน่าจะเป็นคนไหน เพื่อนคนไหนเรียนดนตรีอะไรอยู่ จริงๆ เรื่องนี้ไม่ง่ายถ้าลูกเรายังเรียนประถมอยู่ แต่จะง่ายขึ้นเมื่อขึ้นมัธยมกันแล้ว

ครบทั้ง 10 ข้อ ทำได้ท้งหมดก็จะดีมาก แต่ถ้าทำไม่ครบไม่เป็นไร เอาแค่เรื่องสำคัญๆ ก็คงพอ หัวใจหลักตรงนี้คือความใส่ใจ การเข้าไปวางแผน การเข้าไปดูรายละเอียด และหาแนวทางส่งเสริมลูก หน้าที่เราคือปูทาง จะบอกว่าเราไม่มีเวลา เราไม่รู้จักแวดวงดนตรี ผมเชื่อว่าพ่อแม่กว่า 90% เป็นอย่างนั้น ดังนั้นเราต้องศึกษา และค่อยๆ หาหนทางไป ลูกเราจึงจะประสบความสำเร็จในอนาคต

10 เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้เมื่อสมัครเรียนเปียโนให้ลูกแล้ว



โดย พ่อน้องเพลิน


หลังจากเลือกโรงเรียนเปียโนให้ลูกกันได้แล้ว นอกจากหน้าที่ในการจ่ายเงินไปรับไปส่ง เรายังมีหน้าที่ในการตัดสินใจอะไรอีกหลายอย่าง เพราะกระบวนการต่างๆไม่ได้จบตอนที่พาลูกไปสมัคร มาดูกันซิว่าอะไรบ้างที่เราต้องทำและตัดสินใจ

1. บอกไปเลยว่าเรียนเปียโนอย่างเดียว อันอื่นไม่ต้องมาเสนอ สาเหตุที่ต้องบอกอย่างนี้เพราะบางคนเอา ลูกเล็กไปเรียน โรงเรียนก็มักจะเสนอว่าเข้าคอร์สพิเศษก่อนดีมั๊ย ประเภทไปเคาะจังหวะ รู้จักเครื่องดนตรี อะไรทำนองนี้ หรือไม่ก็ขอทดสอบว่าจะเรียนเปียโนได้หรือไม่ ผมขอยืนยันตรงนี้ว่า อย่าลังเล เด็กทุกคนเรียนเปียโนได้ และไม่จำเป็นต้องไปเข้าคอร์สล่วงหน้าก่อน ถ้าเราและลูกตัดสินใจว่าเปียโนคือคำตอบสุดท้าย ถ้าโรงเรียนไม่ยินดีสอนก็ถอยออกมา ไปหาที่อื่นเรียน

2. เรียนเดี่ยว ไม่เรียนกลุ่มหรือเรียนคู่ การเรียนเปียโนไม่ใช่เรียนคีย์บอร์ดที่จะเอามากองรวมกันในห้องเดียวกันได้ การเรียนกลุ่มในแง่ปฏิบัติของเปียโนจึงทำได้ยากมาก ถ้าโรงเรียนไหนเสนอให้เรียนกลุ่มให้คิดไปก่อนเลยว่าลูกเราไม่ได้เรียนเปียโนแน่ และจริงๆ ครูเปียโนจะทำหน้าที่เหมือนโค้ชมากกว่า ไม่ควรมาเล่นให้ดูทุกชอต แต่เขาต้องบอกความถูกต้อง ความผิดพลาดและแนวทางแก้ไขให้ลูกเราได้ ดังนั้นการจะทำอย่างนั้นได้ครูต้องอยู่กับลูกเราคนเดียว สังเกตสิ่งที่ลูกเราเล่น สังเกตท่าทาง ความรู้สึก อารมณ์ ความเข้าใจ และอื่นๆ เพื่อนำมาปรับปรุงให้ถูกต้อง การเรียนคู่แม้จะเสียค่าเรียนถูกลง ดูเหมือนจะคุ้มค่ากว่าเพราะอยู่กับเครื่องตั้งหนึ่งชั่วโมง แต่เสียเงินน้อยลง แต่อย่าลืมว่าครูเดินเข้าเดินออก วิ่งไปห้องนั้นที ห้องนี้ที ต้องเป็นครูที่เก่งมากจึงจะโค้ชนักเรียนให้เก่งได้ ทางที่ดีอย่าเสี่ยงครับ ยอมเสียเงินเต็มจำนวนแล้วเรียนเดี่ยวจะดีกว่า ถ้ารักจะเรียนเปียโนจริงๆ

3. เตรียมพร้อมตรงเวลา คนมีลูกมักจะรู้ว่าเด็กๆ นี่เวลาจะงัดจากเตียงมาเรียนหนังสือนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายของพ่อแม่เลย ถ้าลูกเราเป็นเช่นนี้อย่านัดเรียนเปียโนเวลาเช้าให้พวกเขาครับ เดี๋ยวจะเบื่อไม่อยากเรียนซะก่อน เราต้องลูกเวลาที่สบายที่สุดของลูก เมื่อได้เวลาต้องไปให้ตรงเวลา หรือควรไปก่อนเวลาสักครึ่งชั่วโมง ถ้าให้ดีบอกลูกไปเลยว่า เราเสียเงินให้ลูกเรียนเปียโนชั่วโมงละเท่าไหร่ ถ้าเราไปสายเราจะเสียเงินฟรีนาทีละเท่าไหร่ และถ้าไปถึงก่อนเราจะมีเวลาซ้อม วอร์มนิ้วได้ก่อน เพราะส่วนใหญ่ลูกๆ ก็จะไม่ค่อยซ้อมที่บ้านอยู่แล้ว มาโรงเรียนส่วนใหญ่ก็เอาซะหน่อย ยิ่งถ้ามาถึงก่อนไม่มีอะไรทำยิ่งดี นอกจากเรื่องเวลาแล้วการเตรียมพร้อมอย่างอื่นก็แล้วแต่โรงเรียนนะครับ บางแห่งซีเรียสเรื่องการแต่งตัว ต้องสุภาพ บางแห่งไม่มีอะไรมาก สอนได้หมด เราก็ต้องรู้ไว้ อ้อ เรื่องเล็บอย่าลืมนะครับ ตัดให้สะอาด ไม่อย่างนั้นมีปัญหากับการเรียนมาก หลายครั้งครูต้องสั่งให้ตัดเวลานั้นเลย คิดดูเสียเวลาเรียนนาทีละเท่าไหร่มาตัดเล็บ เตรียมการไปให้เสร็จเลยครับ

4. เทคนิคการเตรียมตำราเรียน หลังจากได้ตำราเรียนจากโรงเรียนแล้วสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราจะเจอก็คือ สภาพของหนังสือที่ลูกเรียนถ้าเป็นเด็กเล็กจะยิ่งมีตัวประหลาด เช่น การ์ตูน หรืออะไรต่อมิอะไรมากมายที่เป็นกริมมิคหลอกล่อของครูในการสอนให้เด็กจำ เปื้อนอยู่ในหนังสือเต็มไปหมด ในแง่ความทรงจำผมก็ว่ามันดี มันช่วยสร้าง story เวลาลูกเรากลับมาดู และเวลาทบทวนก็ง่าย เพราะจะจำเหตุการณ์นั้นๆ ได้ แต่ตำราหลายเล่มนั้นมักจะต้องเอาไว้ใช้สอบด้วย การสอบเขาห้ามขีดเขียนอะไรในโน้ตนั้นๆ ดังนั้นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ก็คือ จับเอาหนังสือเรียนไปถ่ายเอกสารเป็นเล่ม เข้าปกให้เปิดง่าย เพราะหนังสือเรียนหลายเล่มเวลาต้องกางออกตรงชั้นวางของเปียโน จะต้องหาอะไรมาทับ เพราะมันกางออกได้ไม่สุด ดังนั้นข้อดีด้วยประการทั้งปวงคือ ถ่ายทั้งเล่ม เอาเล่มถ่ายเอกสารมาใช้เรียน เก็บหนังสือเรียนจริงเอาไว้สอบ อยากเขียนอะไรก็เต็มที่เลย แถมยังกางออกมาใช้ง่าย ที่สำคัญกันลืมเวลาดึงออกจากกระเป๋ามาซ้อมที่บ้านได้อีกด้วย

5. วางแผนซ้อมให้เป๊ะ การเรียนเปียโนและดนตรีทั้งหลายมันต้องซ้อม แต่เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน การวางแผนซ้อมเพื่อรองรับเด็กก็ไม่เหมือนกัน เรื่องนี้ต้องนั่งปรึกษากับครูผู้สอน กางเวลาของเด็กออกมาให้กับครูได้ดู ลูกเลิกเรียนเวลาไหน กลับถึงบ้านแล้วทำอะไรบ้าง ควรซ้อมกี่โมง วันละเท่าไหร่ สัปดาห์นี้จะซ้อมเรื่องอะไร เด็กบางคนซ้อมได้ เล่นได้ จบ ไม่กลับมาซ้อมแล้ว, เด็กบางคนชอบเล่นซ้ำไปซ้ำมา สร้างความมั่นใจให้ตัวเอง, เด็กบางคนไม่ซ้อมเลย เราต้องรู้พฤติกรรม เราต้องรู้กิจกรรมอื่นๆ ของลูก เพื่อไม่สร้างความเครียดให้กับเด็กมากเกินไป การที่เขาไม่ซ้อมนั้นไม่ใช่เขาจะผิดเสมอไป ดังนั้นทางที่ดีเราเองก็ต้องมาช่วยฝึกให้เขาวางแผนชีวิต และมีวินัยในตัวเองมากขึ้น โดยใช้ดนตรีนี่แหละครับ

จบ 5 ข้อแรกจะเห็นว่า เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ เพราะเป็นปัญหาเทคนิค แต่บางเรื่องก็เป็น เรื่องของการวางแผน เป็นเทคนิคที่เราใช้ในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ แต่รายละเอียดเหล่านี้จะมีผลต่อชีวิตลูกๆ ของคุณมาก เราอย่าคิดว่าการส่งให้ลูกไปเรียนดนตรี ยัดไปให้ครูอย่างเดียว ช่วยดูแลลูกเรา แล้วจบ เราเองก็ต้องเอาใจใส่ มองสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำให้ลูกเราได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ไปด้วย ติดตาม 5 ข้อสุดท้ายในตอนหน้าครับ

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เทคนิคการเลือกซื้อกลอง และคาฮอง จาก CMC

โดย พ่อน้องเพลิน

ตลาดกลองและเพอร์คัสชั่นบ้านเราไม่ใช่ตลาดใหญ่ ดังนั้นถ้าบอกว่าบ้านเรานี่แหละผลิตกลองคุณภาพดีที่สุดในโลก ก็มีทางเดียวคือเป็นผู้ผลิต OEM ส่งให้กับแบรนด์ชั้นนำของโลก อย่างโรงงานของ CMC เองก็ทำให้ทั้ง LP และแบรนด์อื่นๆ มากมายทั่วโลก ประสบการณ์การผลิตทั้งกลองชุด คองก้า บรองโก้ คาฮอง และอื่นๆ ทำให้รู้ว่าการเลือกซื้อสินค้าดีๆ ราคาพอสมควรจะต้องทำอย่างไร

กลองชุดนั้นราคาค่อนข้างแพง ยิ่งต้องเลือกซื้อเป็นชิ้นเริ่มจากสแนร์ก่อนจะเริ่มจากวัสดุแบบไหน หนังเป็นอย่างไร ขนาดของกลองเท่าไหร่จึงเหมาะสม แต่ละไม้ควรจะเป็นอย่างไร ขึ้นด้วยกลวิธีแบบไหน เรื่องพวกนี้ผู้ผลิตกลองรู้ดี เพราะเขานี่แหละที่นำเสนอรุ่นใหม่ๆ ให้กับเจ้าของแบรนด์ตัดสินใจ

อีกตัวหนึ่งที่กำลังนิยมอย่างคาฮอง ตอนนี้ผลิตกันเยอะเลย มีทั้งราคาถูกและราคาแพง จะซื้อแบบไหน ครั้งนี้ผมพาเจ้าของโรงงาน คือคุณต้น ซึ่งรับหน้าที่ดูแลทางด้านการผลิตของ CMC มาอย่างยาวนาน มาเล่าเกร็ดเล็กน้อย แล้ววันหลังจะมาเล่ารายละเอียดให้อ่านและชมกันอีกครั้งหนึ่ง

หวังว่าดูคลิปกันแล้วจะกระจ่างนะครับ ไว้เจอกันแบบละเอียดๆ อีกครั้งครับ

10 เรื่องต้องทำถ้าตัดสินใจไปหาโรงเรียนเปียโน (จบ)



โดย พ่อน้องเพลิน

น้องเพลินไปสอน ukulele ให้เด็กที่ระยอง

มาว่ากันต่อจากบทความที่แล้วกันเลยครับ ถึง 5 ข้อที่เหลือ งานนี้รับรองอ่านแล้วได้ของดีแน่

6. ประสบการณ์สอนของครู แน่นอนหลายโรงเรียนมีครูประจำที่สอนกันมาอย่างยาวนาน หรือมีเด็กใหม่ที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย บางแห่งใช้คนที่เคยเป็นลูกศิษย์ของสถาบันอัพเกรดขึ้นมาเป็นครูสอน เรื่องนี้ไม่ผิดนะครับ เพราะเด็กพวกนี้เข้าใจระบบการสอนของโรงเรียนเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ผมอยากให้ดูที่สำคัญคือ สอนแล้วสอบได้กันเยอะหรือไม่ สอนแล้วมีสอบตกหรือเปล่า ที่สอบตกเป็นเพราะอะไร ที่ผ่านมาส่งสอบกันปีละกี่คน สอบกับสถาบันไหน ครูคนไหนสอนลูกศิษย์ได้คะแนนสอบเป็นอย่างไร ถ้ามีให้เลือกได้ยิ่งดี แต่เราไม่จำเป็นที่ต้องเลือกครูที่สอนลูกศิษย์ได้คะแนนสูงนะครับ เอาที่เคมีเข้ากับลูกเรา เพราะส่วนใหญ่ที่ลูกศิษย์ได้คะแนนสูงมักเป็นเพราะครูคนนั้นจุกจิกลงรายละเอียดทุกเม็ด ผมเจอมาแล้วครับลูกศิษย์ได้ 100 คะแนนเต็มตอนสอบ เพราะครูไม่ปล่อยเลยสักจุด ถ้ารู้ว่าลูกเราเอาแค่ผ่าน ไม่ต้องจุกจิกขนาดนั้นก็ได้ ก็เลือกคนอื่นจะดีกว่า ดังนั้น การเลือกประสบการณ์ของครูในการพานักเรียนสอบมีความสำคัญเลยครับ

7. ตาราเรียนพร้อมหรือไม่ เรื่องนี้มองว่าสำคัญหรือไม่สำคัญก็ได้ โรงเรียนใหญ่มักมีตรงนี้พร้อม และพร้อมจะยัดเยียดคุณให้ซื้อแบบยาวๆ บางโรงเรียนทำตำราของตัวเองไม่มีขายที่ไหน บังคับต้องซื้อจากโรงเรียนเท่านั้น ในญี่ปุ่นก็เป็นแบบนี้นะครับ ทำโน้ตของตัวเองขึ้นมาแบบว่าเรียบเรียงจากเพลงฮิตในตลาด ถือเป็นลิขสิทธิ์การเรียนการสอนของเขาเลย แต่สำหรับโรงเรียนเล็กเอาแค่มีตำราเรียนก็ถือว่าโอเคแล้ว เพราะตำราเรียนส่วนใหญ่ไม่ใช่ถูกๆ เล่มบางนิดเดียวเกือบครึ่งพันไปแล้ว และถ้าไม่มีเส้นสายการสั่งหนังสือเรียนจะต้องใช้เวลา ดังนั้นถ้าโรงเรียนมีพร้อม นั่นหมายความว่าต้องแบกสต็อกเอาไว้เอง ก็ถือว่าผู้ปกครองคลายความเสี่ยงไปได้บ้าง ยิ่งถ้าเดินเข้าไปที่ธุระการหรือหน้าโรงเรียนแล้วมีหนังสือขายให้เลือกมากมาย อันนี้ดีเลย เพราะเราจะได้ดูไปด้วยว่าลูกเราจะเรียนอะไร หรือจะเลือกอะไรให้ลูกเราเรียน เป็นการมองเห็นทิศทางไปกลายๆ เลยทีเดียว

8. การสร้างสภาวะแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรมและจับต้องยาก เราต้องเข้าไปสัมผัสเองถึงจะรู้ ความรู้สึกไหนบ้างหละที่เราควรสังเกต ประการแรก ลองนั่งดูพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กที่มาส่งลูกเรียนก่อนที่เราจะลงเรียนดูบ้าง เด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร เช่น เด็กชอบแข่งขัน และรู้สึกโดนกดดันจากระบบการสอนของโรงเรียนหรือเปล่า หรือว่าเด็กสนุกสนาน แต่เฉื่อยแฉะกับการซ้อม บรรยากาศของครูที่นั่นตรึงเครียด นักเรียนสายใครสายมัน มีการแข่งขันกันในทีของครูที่สอน มีการรวมวงกันเล่นหรือเปล่า มีกิจกรรมเสริมอื่นๆ ที่จะต้องใช้เวลาของเด็ก หรือใช้เงินของผู้ปกครองเสริมอีกหรือไม่ ฯลฯ เยอะครับ บรรยากาศพวกนี้เราต้องซึมซับและรีบวิเคราะห์โดยเร็วก่อนตัดสินใจเลือกเรียนโรงเรียนนั้น

9. ความยืดหยุ่นของเวลาเรียน ปกติแม้เราจะลงคอร์สหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้กับลูกก็จริง แต่เชื่อเหอะหลายครั้งที่เราอาจจะต้องติดธุระ มาไม่ได้ หรือลูกป่วยเป็นต้น เวลาเรียนพวกนี้โรงเรียนที่ดีจะยืดหยุ่นให้เราพอสมควร แต่ก็มีหลายโรงเรียนที่อ้างว่าถ้าไม่มาเรียนจำต้องเสียสิทธิ์นั้นไป เพราะทั้งครูและห้องถูกจองสิทธิ์เอาไว้แล้ว เราไม่มาเขาก็ไม่สามารถโอนเวลาให้คนอื่นได้ อันนี้ก็ต้องตกลงกันตั้งแต่เริ่มว่าจะมีเงื่อนไขอย่างไร อีกเรื่องหนึ่งคือ ถ้าไม่ใช่เวลาเรียน เช่นไปก่อน หรือหลังเลิกเรียน ลูกเรามีสิทธิ์เข้าไปซ้อมในห้องก่อนได้หรือไม่อย่างไร หรือการติวพิเศษของครูจะทำได้หรือไม่ คุยกันให้ชัด เอาให้เป็นข้อตกลงกันไปเลย

10. ใกล้บ้านดีกว่าไกลบ้าน เดี๋ยวนี้โรงเรียนดนตรีมีอยู่ทุกแห่งของมุมถนน หรือว่าในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง แบรนด์ในห้างก็ดีนะครับ แต่ถ้าไปไม่สะดวก เรียนเสาร์อาทิตย์ต้องฝ่ารถติด ต้องไปวนหาที่จอด เจอนักชอปปิ้งเยอะแยะ รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ โรงเรียนแถวบ้านประเภทปั่นจักรยานไปเรียนได้ก็น่าจะวิเศษสุด ลูกได้มีเวลาพักผ่อน พ่อแม่ไม่ต้องเสียเวลาไปส่งไกล ไม่ต้องไปนั่งรอแวะกลับบ้านมาก่อนได้ เรื่องอย่างนี้ถ้าไม่เจอไม่รู้ ดังนั้นเลือกใกล้บ้าน สะดวก ครูสอนดี และมี 9 ข้อข้างบน ผมให้เลือกใกล้บ้านที่สุดครับ

ครับนี่คือบทสรุปสั้นๆ 10 ข้อ ถือเป็นข้อสังเกตตอนเดินไปเลือกโรงเรียนเปียโนให้ลูก แต่ถ้าคุณมองละเอียด ได้มากกว่านั้นก็ดีนะครับ ผมไม่อยากให้คุณเปลี่ยนโรงเรียนดนตรีให้ลูกบ่อยๆ อยากให้เรียนที่ไหนก็เรียนกันไปยาวๆ ดังนั้นคงต้องเลือกกันให้ดีนะครับ

10 เรื่องต้องทำถ้าตัดสินใจไปหาโรงเรียนเปียโน



โดย พ่อน้องเพลิน

เมื่อเราอยากพาลูกไปเรียนเปียโนที่โรงเรียนดนตรีที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน ผมมีคำแนะนำ 10 ข้อก่อนที่จะเลือกโรงเรียนให้ลูก ไปกันเลยอย่าชักช้า

1. ดูว่าเจ้าของโรงเรียนเอาใจใส่หรือไม่ ไปสมัครครั้งแรกเจอเจ้าของโรงเรียนหรือเปล่า ตามตัวยากมั๊ย อย่าจบดีลเพราะเจอธุระการด้านหน้านะครับ เพราะเราต้องเอาเจ้าของโรงเรียนมาช่วยวางแผนการเรียนของลูกเราแบบยาวๆ แถมเจ้าของโรงเรียนจะบอกได้ว่าเราจะรับชะตากรรมในอนาคตอย่างไร ตั้งแต่เรื่องครู และอีกจิปาถะ เอาใจใส่ ดูแลทุกกระบวนการหรือไม่ เรื่องนี้เรื่องใหญ่พลาดไม่ได้เลย

2. ครูเปียโนมีกี่ระดับ ต้องเห็นใจโรงเรียนพวกนี้ เพราะครูเก่งๆ จะมักไม่ค่อยมาสอนในโรงเรียนพวกนี้ ดังนั้นอาจจะมีคละกันไป คือครูใหม่กับครูเก่า ซึ่งหลายครั้งที่เขาเอาครูใหม่ไม่มีประสบการณ์มาสอนเด็กใหม่เลย คราวนี้ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ก็ต้องทำใจ แต่ถ้าเข้าไปแล้วได้ครูเก่าฝีมือดีถือเป็นโชคของเรา ถ้าเราต่อรองได้ก็ดี แต่ที่สำคัญคือ ต้องมีครูเปียโนทั้งที่สอนในระดับเด็กเล็ก และสอนในระดับเด็กโต ไปจนถึงขั้นมือโปรอยู่ด้วย เราจะได้วางแผนระยะยาวของเราได้ถูก การจะให้เติบโตไปด้วยกันระหว่างครูดนตรีและเด็กน่าจะไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพิจารณาอีกเหมือนกัน

3. ลักษณะของคอร์สและการเก็บเงิน เรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ จงเข้าใจว่าเราไม่ได้จ่ายครั้งแรกเพียงครั้งเดียวแล้วลูกเราจะเล่นเปียโนเก่งนะครับ เรายังต้องเสียเงินกันอีกเป็นสิบปี ดังนั้นเงื่อนไขทางการเงินสำคัญมาก ลงครั้งและกี่คอร์สที่เป็นภาคบังคับ มีอะไรที่ยืดหยุ่นให้กับเราได้บ้าง ต้องเจรจาต้องตกลงกันแต่เนิ่นๆ ส่วนลดมีหรือเปล่า อย่างไรบ้าง ที่สำคัญเก็บเงินไปแล้วจะปิดโรงเรียนหนีเราหรือเปล่า ต้องประเมินด้วยนะครับ

4. ห้องเรียนเปียโนเหมาะสมหรือไม่ เรื่องนี้ผู้ปกครองหลายคนลืมนึกถึงไป ลองคิดดูลูกเราต้องไปนั่งใน ห้องเรียนเปียโนเป็นชั่วโมงในนั้นจะรู้สึกอย่างไรหากห้องนั้นมีปัญหา ลักษณะของห้องส่วนใหญ่ก็จะมีเปียโนหนึ่งตัว เก้าอี้อีกสองตัว ตัวแรกให้ลูกเรานั่งเล่น อีกตัวให้ครูผู้สอน ส่วนใหญ่ห้องจะเป็นห้องปิดมีช่องแอร์เพื่อทำให้เย็นและระบายอากาศ ถ้าห้องดูมืดทึมเกินไป แอร์ก็เก่าแก่เหลือเกินไม่เคยเปลี่ยน หรือไม่ทำระบบแอร์ที่ดี คุณจะเจอว่าแอร์มันจะเสียบ่อย และไม่เหมาะกับการเรียนการสอน ที่สำคัญผมอยากให้ดูลักษณะห้อง ห้องเปียโนที่ดีควรจะมีประตูใส คือใครเดินผ่าน หรือผู้ปกครองนั่งอยู่ด้านหน้าก็สามารถเห็นว่าลูกเราทำอะไรอยู่ เรื่องนี้สำคัญมากนะครับ โดยเฉพาะการมีลูกสาวไปเรียนเปียโน

5. เครื่องดนตรีดูดีมีระดับ ผมไปหลายโรงเรียนสำรวจดูว่าแต่ละโรงเรียนใช้อุปกรณ์อะไรในการเรียนการสอนบ้าง ต้องบอกเลยนะครับ หลายโรงเรียนนั้นแทบจะเหมือนกันหมด คือไม่นิยมซื้อของแพงคุณภาพดีมาให้เด็กเรียนกัน ก็เข้าใจนะครับซื้อมาแพงเสียงอย่างดี แต่มาเจอเด็กที่หลากหลาย รักษาบ้างไม่รักษาบ้าง พังมาเยอะ แล้วใครจะกล้าเอาของดีมาให้เรียน แต่สำหรับผมใครเอาของดีมาให้เรียนผมเชื่อว่าเขาดูแลลูกคุณอย่างดี และก็ดูแลเครื่องดนตรีอย่างดีด้วยเช่นกัน ที่สำคัญเปียโนนั้นต้องการการดูแล เล่นกันทั้งวันโอกาสเสียงเพี้ยนมีสูงมาก ดังนั้นโรงเรียนต้องหมั่นจูนตั้งสายให้ดี ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกเราเล่นเปียโนเสียงเพี้ยนอยู่นั่นแหละ แล้วมันจะจดจำเสียงของโน้ตแต่ละตัวได้อย่างไร ยิ่งถ้าโรงเรียนไหนกล้าๆ เอาแกรนด์เปียโนมาให้ลูกศิษย์เรียนนี่ผมจะกราบเลยครับ เพราะนั่นคือสุดยอดแล้ว ลูกเราจะได้คุ้นกับเสียงดีๆ ของเปียโน และไม่ตื่นเวลาที่ต้องเจอแกรนด์เปียโนพวกนี้

แค่ 5 ข้อก็กินพื้นที่ไปเยอะแล้ว พวกนี้เป็นอย่างย่อ รายละเอียดแต่ละจุดนั้นเยอะมาก ผมไม่อยากให้การไปเลือกโรงเรียนทำแบบง่ายๆ เราต้องวางแผนให้ดี ให้เนี๊ยบ แล้วลูกเราจะมีความสุขกับการเรียนดนตรี เราได้จ่ายเงินที่คุ้มค่า ครั้งหน้าผมจะมาต่ออีก 5 ข้อ เพื่อจบเรื่องการเลือกโรงเรียนกัน ติดตามต่อนะครับ